การจำแนกพันธุ์ยางพารา
วันนี้ขออนุญาตนำเอาบทความเกี่ยวกับ การจำแนก ลักษณะของพันธุ์ยาง มาลงไว้เพื่อง่ายต่อการค้นหาของตัวเอง และเพื่อมีผู้อ่านได้ถลำตัวเข้ามาก็จะได้อ่านไปด้วยกัน นำมาจาก เว็บไซต์ http://km.rubber.co.th/index.php? จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
การจำแนกพันธุ์ยางพารามี 2 วิธี คือ การจำแนกพันธุ์ยางพาราโดยสายตา โดยมองจากลักษณะภายนอกที่ยางพาราแต่ละพันธุ์แสดงออกมาให้เห็น และการจำแนกพันธุ์ยางพาราทางวิทยาศาสตร์ โดยการศึกษาและจัดทำลายพิมพ์ DNA แม้จะเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง แต่มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลา เสียค่าใช้จ่ายมาก จึงนิยมใช้วิธีการจำแนกพันธุ์ยางพาราด้วยสายตามากกว่า เพราะเป็นวีธีที่ตรวจสอบได้ง่าย และตรวจสอบได้จำนวนมาก สะดวกรวดเร็ว สามารถบอกชนิดของพันธุ์ยางได้ทันที การเป็นนักจำแนกพันธุ์ยางที่ประสบผลสำเร็จได้นั้น จึงต้องอาศัยการสังเกต หมั่นฝึกฝนเพิ่มความชำนาญ และที่สำคัญต้องมีหัวศิลป์ด้วย
สำหรับวิธีจำแนกพันธุ์ยางพาราโดยสายตา นายศุภมิตร ลิมปิชัย นักวิชาการเกษตร 8 ว ศูนย์วิจัยยางสงขลา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร ผู้มีความรู้ความสามารถ ควมชำนาญและมีประสบการณ์ในการจำแนกพันธุ์ยางมาหลายสิบปี เป็นวิทยากรมาหลายต่อหลายรุ่นได้กล่าวถึงเคล็ดลับในการจำแนกพันธุ์ยางโดยให้มองภาพรวม ๆ ที่เป็นลักษณะภายนอกของต้นยางพาราที่เห็นได้ชัดเจน จนถึงส่วนปลีกย่อยมาประกอบ การตัดสินใจว่าเป็นยางพันธุ์ใด เริ่มด้วยการดูรูปทรงของฉัตร ต่อมาให้ดูลักษณะใบ, กิ่งก้าน เปลือก, สีของน้ำยาง รวมทั้งลักษณะประจำพันธุ์ ควรดูว่ามีอะไรที่แปลกเป็นพิเศษ ทั้งหมดถือเป็นเทคนิค อย่างหนึ่งช่วยทำให้จดจำได้ดียิ่งขึ้น
การดูรูปทรงของฉัตร
รูปทรงของฉัตร ให้พิจารณาฉัตรแก่ที่ 1-2 นับจากยอดว่ามีรูปทรงเป็นอย่างไร ที่พบเห็นมีอยู่ 4 ลักษณะ ได้แก่ รูปครึ่งวงกลม, รูปร่ม, รูปกรวย และรูปสามเหลี่ยมหรือรูปพีระมิด ซึ่งอาจมีทรงและขนาดแตกต่างกัน จำนวนใบในฉัตรมีมากหรือน้อยจนมองเห็นได้ชัดว่าโปร่ง หรืออัดแน่น หรือเป็นแบบฉัตรเปิดที่มองทะลุผ่านได้ หรือแบบฉัตรปิดที่ใบบนตกลงมาปิดใบล่างไม่สามารถมองทะลุผ่านฉัตรได้
การดูลักษณะของใบ
ใบยางพาราประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ ให้พิจารณาดูใบกลางของยางพาราแต่ละพันธุ์ ซึ่งอาจมีรูปร่างแตกต่างกันไป ยางพาราบางพันธุ์มีใบป้อมกลางใบ เช่น พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 และ พันธุ์ RRIM 600 ใบจะป้อมปลายใบ ส่วนยางพันธุ์ BPM 24 และ PB235 ใบจะป้อมกลางใบ จากนั้นให้พิจารณาดูว่า ฐานใบเป็นรูปลิ่ม หรือสอบเรียว มีปลายใบเรียวแหลม หรือติ่งแหลม มีขอบใบเรียบหรือเป็นรูปคลื่น มีแผ่นใบเรียบหรือขรุขระ ใบตัดตามขวางเป็นรูปตรง หรือเว้าเป็นท้องเรือ และตำแหน่งของขอบใบย่อยทั้ง 3 ใบ อยู่ในลักษณะแยกจากกัน, สัมผัสกัน หรือซ้อนทับกัน ก้านใบ ทำมุมกับลำต้นแบบไหน ตั้งฉาก, ทำมุมยกขึ้น หรือทำมุมทิ้งลง และรูปร่างของฐานก้านใบกลม, แบนราบ หรือฐานมีร่อง
จากลักษณะสำคัญ ๆ ที่เห็นเพียงภายนอก ยังไม่รวมไปถึงลักษณะปลีกย่อย ก็พอบอกชนิดของพันธุ์ยางได้ แต่ถ้าจะให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ผู้จะเป็นนักจำแนกพันธุ์ยางที่ดีควรจะทราบลักษณะประจำพันธุ์ยางไว้เป็นแนวทางเพื่อให้ง่ายต่อการจำแนกพันธุ์ยาง ขอยกตัวอย่างพันธุ์ยางที่ผลิตเพื่อการค้า 4 พันธุ์ ดังนี้
พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251
รูปทรงฉัตรเป็นครึ่งวงกลม ฉัตรเปิด ระยะระหว่างฉัตรห่าง ใบสีเขียวเป็นมัน ป้อมปลายใบ ใบตัดตามขวางเว้าเป็นรูปท้องเรือ ขอบใบหยักเป็นลอนคลื่น ก้านใบยาวทำมุมตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ฐานก้านใบชั้นเดียว ลักษณะพิเศษคือกิ่งกระโดงคดและขอบใบเป็นลอนคลื่น
พันธุ์ RRIM 600
รูปทรงฉัตรเป็นรูปกรวยขนาดเล็ก ฉัตรเปิด ใบสีเขียวอมเหลือง แผ่นใบเรียบ นิ่มลื่น ผิวใบมัน ขอบใบเรียบ ป้อมปลายใบ ปลายใบมีติ่งแหลมคล้ายใบโพธิ์ ก้านใบทำมุมยกขึ้น และใบทั้ง 3 ใบ อยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะพิเศษคือ ฐานก้านใบเป็นร่อง ตาอยู่ในฐานก้านใบ ฐานใบสอบเรียว
พันธุ์ BPM 24
รูปทรงฉัตรครึ่งวงกลม ฉัตรเปิด ใบสีเขียวไม่เป็นมัน ป้อมกลางใบ ฐานใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ก้านใบทำมุมเกือบตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ก้านใบย่อยยาวทำมุมกว้างอยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะพิเศษคือ ใบกลางใหญ่กว่าใบทั้งสองข้าง และ ใบกลางมักยาวกว่าก้านใบ
พันธุ์ PB 235
รูปทรงฉัตรคล้ายรูปพีระมิด ฉัตรเปิด ใบสีเขียวไม่เป็นมัน ใบกลางป้อมกลางใบคล้ายรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบรูปลิ่ม มีเส้นกลางใบสีเหลืองชัดเจน ก้านใบตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ลักษณะพิเศษคือ บางฉัตรมักพบใบย่อย 4 ใบ เส้นกลางใบสีเหลืองชัดเจน ฉัตรที่ใบเพสลาดจะพบฐานก้านใบสีม่วง
นายศุภมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะประจำพันธุ์ยางและการจำแนกพันธุ์ยางพาราบวกกับเทคนิคเฉพาะตัวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความชำนาญ ก็จะสามารถจำแนกพันธุ์ยางพาราได้อย่างถูกต้องแม่นยำไม่เฉพาะแต่ในแปลงปลูกเท่านั้น แม้แต่ในแปลงผลิตต้นยางชำถุงก็สามารถจำแนกได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูล: พรรณพิชญา สุเสวี สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร
0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "การจำแนกพันธุ์ยางพารา"
แสดงความคิดเห็น