การปลูกพืชร่วมยาง

การปลูกพืชร่วมยาง

ปกติเราจะคุ้นเคยคำว่า เกษตรพอเพียง เกษตรผสมผสาน เกษตรปรานีต แต่คำว่า ปลูกพืชร่วมยาง ไม่ค่อยจะคุ้นหูเนื่องจากเป็นคำที่คนส่วนมากไม่ได้ใช้กัน แต่คนในภาคใต้คุ้นมาก แล้วมันต่างกันอย่างไร

เกษตรพอเพียง

อันดับแรก อยากพูดถึงคำว่า เกษตรพอเพียง ก่อนนะครับ เพราะเป็น ปรัชญา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงให้ไว้ ตั้งแต่ พ.ศ.2517 เป็นต้นมาแล้ว จนกระทั่ง ได้มีการนำเอาปรัชญาดังกล่าวมาทำให็ เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.2540 เนื่องจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย เกิดวิกฤตทางการเงิน จึงมีการนำปรัชญา เกษตรพอเพียง มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจาก สร้างความแกร่งให้กับการเริ่มต้นชีวิตของครอบครัวได้อย่างแท้จริง จนกระทั่งขยายไปสู่ เศรษฐกิจพอเพียงด้วย

เกษตรผสมผสาน เกษตรปรานีต

ส่วนเกษตรผสมผสาน กับ เกษตรปรานีต เป็นคำที่ใกล้เคียงกัน คือ เป็นการนำเอาปรัชญา เกษตรพอเพียง มาใช้ให้เป็นรูปธรรม โดยการจัดสรรพื้นที่ของตัวเอง เพื่อการเกษตร และการจัดสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการปลูกผัก ผลไม้ และพืชต่างๆ หลายแบบ ตามวัตถุประสงค์ เช่น พืชที่สามารถเก็บขายทุกวัน เก็บขายตามฤดู เลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร เป็นต้น แล้วแต่การปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและการตลาด

การปลูกพืชร่วมยาง 

จุดโฟกัสที่แท้จริง ที่บล็อคเกษตรพอเพียงเราจะเสนอคือ การปลูกพืชร่วมยาง เพราะเราเน้นเรื่องของยางพารา กล่าวย้อนไป ในอดีต สวนยางเป็นเหมือนป่าธรรมชาติ มีต้นไม้เหมือนป่ารกทั่วไป แต่มา ได้มีการพัฒนาวิธีการ เลยจัดเป็นการปลูกแบบเชิงเดี่ยว คือ ในสวนมีแต่ ต้นยางพารา เพียงชนิดเดียว เพื่อป้องกันพืชอื่นมาแย่งอาหาร

ปลูกพืชร่วมยาง

ปัจจุบัน ได้มีคนประยุกต์ แนวคิดระหว่างอดีตกับปัจจุบันเข้ากัน โดยไม่ให้สวนยางเป็นสวนที่ปลูกพืชเชิงเดียวอีกต่อไป วิธีการคือ

1. ปลูกต้นยาง ให้ห่างกว่าที่เคยทำกันมา ได้แก่ แต่ก่อน 3x7 เมตร ก็ปรับเป็น 3.50 x 14 เมตร 
2. ในร่องยางกว้างขึ้น ก็ใช้ในการปลูกพืชชนิดอื่น ซึ่งปลูกได้หลายชนิดขึ้น เนื่องจากพุ่มใบของต้นยางพารา ไม่คลุมทั้งหมด ยังมีแสงสว่างส่องลอดลงมาได้
3. พืชที่ปลูกในสวนยางมีหลากหลาย แต่ที่เด่นๆ เช่น ต้นเหลียง ต้นปาล์ม ต้นมะค่าโมง ดอกหน้าวัว ดอกดาหรา กระชาย ขิง ข่า เป็นต้น ก่อนปลูกให้สำรวจตลาดก่อนด้วย ว่าปลูกแล้วจะขายได้หรือไม่ แต่ถ้าปลูกเพื่อทำกินในครอบครัวก็ทำได้เลย
4. ปุ๋ยเคมี ใส่บ้างก็ได้ ไม่ใส่ก็ได้ แต่ถ้าดูจากผู้มีประสบการณ์แล้ว เขาไม่ใส่ปุ๋ยเคมีแล้ว แต่เน้นใส่ ปุ๋ยหมัก ปุ่ยชีวภาพ เช่น ปุ๋ยหมักจากปลา เป็นต้น ส่วนอื่นๆ ก็จะอาศัยใบไม้ชนิดอื่นที่ปลูกร่วมยางอยู่นั้นเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยธรรมชาติไป ซึ่งเปรียบได้กับป่าลึก ที่ไม่มีคนไปใส่ปุ๋ยให้ แต่ยังสามารถเจริญเติมโตได้ 

ถามว่า มันไม่รกไปเหรอ?

คำตอบคือ รกก็ดี เพราะมันช่วยทำให้พื้นดินมีความชื้นตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าดินชื้นก็ช่วยทำให้ต้นยางสมบูรณ์เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยง (ไม่ใช่น้ำขังนะครับ) และจะทำให้เศษใบไม้ย่อยสลายได้ง่ายมากยิ่งขึ้น คิดถึงป่าในอดีตดูว่า สมบูรณ์ขนาดไหน 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การกรีดยาง มีความสะดวกและปลอดภัย เมื่อ ปลูกพืชร่วมยาง แล้วก็ต้องมีการจัดสภาพบ้าง โดยการทำทางเดินไม่ใช้มีพวกหนามหรือ สิ่งที่จะเป็นอันตรายอยู่บริเวณทางเดิน แต่โดยทั่วไป ชาวสวนเราสวมรองเท้าบู้ทใส่เสื้อผ้ามิดชิดอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการป้องกันตัวได้ระดับหนึ่งแล้ว

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "การปลูกพืชร่วมยาง"

แสดงความคิดเห็น