ตอบคำถามเรื่องปัญหายางพารา

ตอบคำถามเรื่องปัญหายางพาราตายนึ่ง

บังเอิญหลายวันก่อน มีน้องคนหนึ่ง ได้ตั้งคำถามในกลุ่มยางพารา เลย เข้าไปตอบ แต่มีเรื่องใก้เขียนเยอะ พอตอบเสร็จ เลยคิดว่า ไหนๆ ก็ไหนๆแล้ว เอามาลงไว้ที่นี่ด้วยก็แล้วกัน ตอบแบบบ้านๆ นะครับ

สวัสดีครับ มาตอบเรื่อง ยางไม่ค่อยออก ตายนึ่ง


สาเหตุ
ความสมบูรณ์ของธาตุอาหารไม่เพียงพอ,น้ำกรด,กรีดถี่, เคยใส่ยาง,ความชื้นในดินน้อย (ไม่ใช่โดยตรงแต่เป็นส่วนหนึ่ง และทำให้น้ำยางไม่ค่อยไหล

แก้ไขเบื้องต้น
หยุดกรีดต้นนั้น 1-2 ปีและไม่ต้องเปลี่ยนหน้ายาง, บำรุงยางตามปกติ หรือจะเพิ่มปุ๋ยชีวภาพก็ได้

การบำรุงดูแล
-ใส่ปุ๋ยตามปกติ ทางกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำไว้คือ 1. ปุ๋ยสำเร็จที่ร้านวางขายจะเป็น 29 - 8 - 18 ## 2.ถ้าใช้ "แม่ปุ๋ย" ผสมเอง ให้ใช้สูตร 30 -8 - 18 แต่เนื่องจาก ในดินทรายขาดธาตุโปแดสเซียม (ตัวหลัง ควรเพิ่ม สำหรับสวนผมใช้สูตร 30 - 8 - 20 (NPK)
-สูตรในการผสม สูตร 30 - 8 - 20
แม่ปุ๋ย ยูเรีย ( 46 - 0 - 0 ) 263 กก.
แม่ปุ๋ย เดป ( 18 - 46 - 0 ) 79 กก.
แม่ปุ๋ย โปแตสเซี่ยมคลอไรด์ ( 0 - 0 - 60 ) 150 กก.
รวมน้ำหนักแม่ปุ๋ย 492 กก.

-สูตรในการผสม สูตร 30 - 8 - 18
แม่ปุ๋ย ยูเรีย ( 46 - 0 - 0 ) 263 กก.
แม่ปุ๋ย เดป ( 18 - 46 - 0 ) 79 กก.
แม่ปุ๋ย โปแตสเซี่ยมคลอไรด์ ( 0 - 0 - 60 ) 135 กก.
รวมน้ำหนักแม่ปุ๋ย 477 กก.

หมายเหตุ ควรใส่ปุ๋ยธาตุอาหารรอง (แคลเซียม และ มักนีเชียม) (กระสอบละ 350-380 บาท) สัก 1-2 กระสอบต่อ 500 กก. (ถ้าสามารถใส่มากกว่านั้นได้ก็เพิ่มอีกหนึ่งกระสอบ ใส่ลงในขณะที่ผสมแม่ปุ๋ยเลยครับ) ส่วนตัวหามาหลายยี่ห้อไม่เจอธาตุอาหารที่ต้องการ พอดีปีนี้ลองซื้อ บุญพืช สูตร 1 บำรุงต้นบำรุงใบ ข้อดีคือ เขามีธาตุอาหารเสริมอยู่ในนั้นด้วย (ผมไม่มีส่วนได้เสียกับบุญพืชนะครับ) สมัยก่อนจะมี "ซุปเปอร์โกรว์" เป็นปุ๋ยธาตุอาหารเสริม ตอนนี้หาไม่เจอแล้ว

ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ดีไหม? ตอบได้เลยว่า "ดี" แต่.. อย่าใส่แต่ปุ๋ยอินทรีย์นะครับ เพราะมีธาตุอาหารน้อยมาก ถ้าจะใส่เฉพาะมันจริงๆ ต้องเป็น 2-3 กก.(เป็นอย่างน้อย) ต่อยาง 1 ต้น แต่ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์(ชีวิภาพ) คือ ละลายช้า ยางค่อยๆได้กิน และมันช่วยปรับโครงสร้างของดิน ข้อสังเกต คนขายปุ๋ยอินทรีย์ มักจะบอกให้เราผสมเคมีลงในอินทรีย์ 1 กก. ต่ออินทรีย์ 10 กก. ทั้งนี้เพราะเขาต้องการธาตุอาหารเพิ่มนั่นเอง ความหมายคือ ถ้าใส่เฉพาะอินทรีย์ เอาไม่อยู่

ปุ๋ยแบบหยอดตรงรอยกรีดดีไหม? ส่วนตัวว่า ไม่ดี เพราะส่วนมากใส่สารเร่ง ซึ่งคนขายทั่วไปมักบอกว่า "ไม่มีสารเร่ง"

การใช้ปุ๋ยที่ได้ผลดีและทำให้สามารถกรีดได้น้ำยางมากขึ้นคือ การใส่ปุ๋ยเคมีโดยมีปุ๋ยอินทรีย์มาร่วมใส่ด้วย

ทำไมปุ๋ยอินทรีย์เคมีจึงมีสูตร 6-3-3 ตอบ เพราะธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มีน้อยมาก และถ้าไม่ใส่ปุ๋ยเคมีผสมลงไป ปุ๋ยนี้จะไม่ได้ชื่อว่าปุ๋ย มันจะเป็นเพียงแค่ "สารปรับสภาพดิน" ผู้ผลิตเลยเอาเคมีมาใส่นิดนึงคือ 6-3-3 ลองเทียบกับปุ๋ยที่แนะนำข้างต้นครับ 30-8-20 มากกว่ากันไหม?

ทำไมกรมวิชาการแนะนำสูตร 30-8-18 (สวนยางผมตัวท้าย 20) คำตอบคือ เพราะเขาวิจัยมาแล้วว่า ในการที่เรากรีดน้ำยางออกมา ในหนึ่งปี ต้นยางพาราสูญเสียธาตุ อาหารไป 30-8-18 เมี่อเทียบกับน้ำหนักยาง

ทำไมต้องแบ่งใส่ปุ๋ย 2 รอบ ตอบคือ เพราะจะได้กระจายปุ๋ยให้ต้นยางได้กิน เนื่องจากปุ๋ยจะอยู่ให้กินได้ 2 เดือน (นอกนั้นละเหยไปก่อนก็มี ตกค้างก็มี (ไม่ใช่ส่วนที่เป็นกาก/สารจับเม็ดที่เหลือนะครับ)

ส่วนตัวแนะนำให้ใส่ 3 รอบ ในปริมาณเท่าเดิม เช่น 1 ปี เราจะใส่ 20 กระสอบ ปกติเราใส่ รอบแรก 10 กระสอบ และ รอบหลัง 10 กระสอบ ก็ปรับเป็น รอบแรกสัก 4 กระสอบ, รอบเซมิ 3, และรอบสุดท้าย 3 กระสอบ ห่างกันประมาณ 2 เดือน หรือ เดือนครึ่งปลายๆ

และถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือ น้ำหมัก เสริมไปด้วย จะดีมากครับ

ระวังเรื่องน้ำกรด ถ้ากรดค้างในจอกตอนเก็บ หรือ พลิกก้อนยาง ให้สาดออกไปร่องสวนให้กระจายๆ ไปมันจะได้เฉลี่ยหรืออาจจะแห้งบนหน้าดิน ไม่ไปรบกวนรากยาง

การใช้กรดฟอร์มิก ที่ปลอดภัย อยู่ที่อัตราส่วน 30 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร นะครับ (แต่ช่วงฝนและหนาว น้ำยางออกเยอะ ลองเพิ่มอีกนิดหนึ่งเป็น 40-50 ซีซีก็ได้ ดูจากปริมาณน้ำเลี้ยงที่ไหลออกมา

การฟื้นฟูต้นที่ตายนึ่ง
เนื่องจากการที่น้ำยางออกเป็นจุดๆ บางจุด เป็นการเตือนว่า จะตายนึ่ง ต้องหยุดกรีดทันที ถ้ารีบในการฟื้นฟู ต้องอาศัยการเอาใจใส่เพิ่มเติมครับ เช่น หาปุ๋ยอินทรีย์มาใส่รอบๆ ต้นที่เป็นนั้น ถ้าดินแห้งก็ต้องใส่น้ำ เพื่อให้ธาตุอาหารละลายและรากยางดูดไปกินได้

แต่ถ้าไม่อยากเสียเงิน ก็คงต้องพักยางต้นนั้นๆ เป็นเวลา ปีสองปี หรือ นานกว่านั้น เพื่อให้มันสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ตลอดจนทำให้น้ำยางไหลตามปกติได้

ข้อสังเกต ที่ต้องใสใจ คือ
ต้นยางต้นใดที่น้ำยางออกมากเป็นพิเศษ อย่าเมามันในการกรีด เพราะเห็นว่า น้ำยางออกเยอะนะ ควรหยุดให้มันบ้าง เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่า มันมีปัญหา มันเลยเหมือนคนหายใจสามเฮือกสุดท้ายก่อนตาย คือ เหมือนกับว่าดีมากๆ แต่ก็แย่ไปในที่สุด ดังนั้น ต้นนั้นควรกรีดเว้นวัน ที่สวนผมตอนนี้ก็มีสามสี่ต้นที่ออกเยอะมาก เลยกรีดแค่วันเดียวพักสองวัน

ดินทราย เป็นดินที่ด้อยคุณภาพ
ฤดูฝนดูเปื่อยดีและทำให้เราคิดว่า น้ำซึมได้ดีและรากยางขยายได้ง่าย แต่ในทางตรงข้าม พอฤดูแล้งหน้าดินแข็งรอกฝอยหดหรือแห้ง หายไปหมด ฉะนั้น การจะใส่ปุ๋ยรอบแรก ต้องรอให้ฝนตกเยอะๆ ผ่านไปสักสองเดือนถึงจะเริ่มใส่ เช่น ภาคเหนือ อาจจะใส่ปุ๋ยสักเดือนกรกฎาคม  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ในดินทราย เมื่อรากฝายหดไปแล้ว กว่าจะงอกมาอีกก็ต่อเมื่อความชื้นในดินมามากๆ ดังนั้นต้องรอ

ที่สำคัญ อินทรีย์วัตถุ คือ เศษใบไม้ กิ่งไม้ฯลฯ ถ้ามีก็ให้กระจายๆ ในส่วนนั่นแหละครับ รอให้มันย่อยสลายเป็นปุ๋ย แต่ในส่วนผม ชอบให้หญ้า  และ ถั่วขึ้น รกหน่อย แต่เรามุ่งหวังให้มันเป็นพืชคลุมดิน

สวนผม การใส่ปุ๋ย ใช้วิธีฝัง แทนการหว่างนะครับ และมีการใส่ปุ๋ยน้ำพ่นลำต้นช่วยด้วยอีกทาง ดังนั้น การฝังปุ๋ย ทำให้เราไม่กังวลเรื่องหญ้าแย่งกินปุ๋ย รวมถึงการพ่นลำต้น ทำให้หญ้าชนิดอื่นไม่สามารถแยะอาหารของต้นยางได้


ปุ๋ยที่ดีที่สุดที่จะใส่ในสวนยางเราได้ คือ ปุ๋ยที่ใส่ตามค่า "การวิเคราะห์ดิน" นะครับ ไม่ใช่อยู่ที่สูตร และยี่ห้อ (และต้องไม่ใช่ปุ๋ยปลอมนะครับ บ่อยครั้งที่เห็นคนโพสต์ภาพน้ำยางออกมาก มักจะมีคำถามว่า ใช้ปุ๋ยสูตรไหน หรือ ยี่ห้ออะไร  ถามแบบนี้คือ คนไม่เข้าใจการเกษตรและการใช้ปุ๋ยครับ

ตอบยาวหน่อยครับ และพยายามให้ครอบคลุมทุกด้าน มีบกพร่องบ้างก็ขออภัย ส่วนตัวแล้ว ใช้ทั้งสารเคมี ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก เพราะเรารู้ว่า ที่ดินในสวนเรามันต้องการอะไร

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "ตอบคำถามเรื่องปัญหายางพารา"

แสดงความคิดเห็น