ปาราชิก 4

ปาราชิก 4 


ปัจจุบัน เห็นมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพระสงฆ์กันบ่อยๆ เลยคิดว่า น่าจะพูดถึงเรื่องนี้เสียบ้างก็ดี เพราะจะได้รู้ว่า เหตุที่จะทำให้ภิกษุหมดจากความเป็นภิกษุอัตโนมัติ คือ การต้องอาบัติ ปาราชิก 4 ความหมายคือ ถ้าผิดอาบัติข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อนี้ คือ หมดความเป็นภิกษุทันที แม้ว่าจะยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์อยู่ก็ตาม 

เหตุที่ทำให้พระลาสิกขาบท หรือ สึกได้
อาบัติ ที่ทำให้พระต้องลาสิกขาบท

ปาราชิก 4 ข้อ มาจากไหน?


ความจริง ปาราชิก 4 ข้อนี้ ก็คือข้อวินัย ที่อยู่ใน ศีล 227 ของพระภิกษุนั่นเอง ได้แก่

1. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น)

พูดแบบบ้านๆ ก็คือ ถ้ามีเซ็กซ์ กับ ใครก็ตาม คือ คนไม่ว่าชายหรือหญิง สัตว์ตัวผู้ตัวเมีย แม้กระทั่งกับซากศพ ก็ถือว่าผิดทั้งนั้น จะที่ลับหรือที่แจังก็ตาม (เดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มข้างล่างนะครับ)

2. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา 5 มาสก (5 มาสกเท่ากับ 1 บาททองคำ)

พูดแบบบ้านๆ คือ ลักทรัพย์ของคนอื่น แม้ว่าลักไปแล้วเอามาคืนก็ถือว่าผิด เอาไปซ่อนเล่นๆ แล้วไม่ได้เอามาคืนก็ผิด 

3. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การแท้งเด็กในครรภ์

พูดแบบบ้านๆ คือ การฆ่าคน จะทำเอง หรือ ให้ผู้อื่นทำ ก็ผิดทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าต้องการจะสอนเรื่อง สิทธิ์การมีชีวิตอยู่ของคน แม้แต่ทารกในท้องก็ห้ามฆ่า หรือ ทำแท้ง เพราะว่า เมื่อ กาย กับ จิต มารวมกัน (เป็นทารก) เขาก็คือ คนคนหนึ่งทันที 

4. กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)ยกเว้นสำคัญตนผิด

พูดแบบบ้านๆ คือ ถ้าพระรูปใดไม่มีคุณธรรมแบบนั้นๆ แล้วตั้งใจให้คนอื่นเข้าใจว่าตัวเองทำ หรือ หลอกเขา โกหกเขา เช่น ทำเป็นว่า ตาทิพย์, รู้อดีตอนาคตของคน, เหาะได้ เป็นต้น ทั้งที่ตัวเองทำไม่ได้ นี่เรียกว่า อวดอุตริมนุสธรรม (อ่านว่า อวด-อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ ...เหตุที่เขียนคำอ่านไว้ด้วย เพราะได้ยินผู้อ่านข่าวทั้งวิทยุ และ โทรทัศน์ มักจะออกเสียงผิด ท่านที่รู้แล้วก็ขออภัยครับ)

ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะสามารถ เอาพระสึก หรือ ลาสิกขาบท ได้นั้น ไม่ใช่มีแต่ ปาราชิก 4 เท่านั้น แต่มันยังมีอีกข้อหนึ่ง ที่จะว่า เบาก็เบา จะว่าหนักก็หนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับพยาน เป็นสำคัญ นั่นก็คือ

"โลกวัชชะ"


ขออนุญาต นำเอา ข้อเขียนของ พระมหาวีรชัย วีรชโย ( น้ำแก้ว ) ที่ได้ตอบในเว็บบอร์ดในเว็บไซต์
http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=27699.0;wap2 
ท่านบอกไว้ว่า

"เป็นคำที่หลายคนคงคุ้นหูกัน และเรามักจะเข้าใจไม่ตรงกันกับความหมาย หรือจุดประสงค์ของคำๆ นี้ คำว่า โลกวัชชะ มาจากภาษาบาลี ว่า โลกะ (โลก) + วัชชะ (โทษ) รวมกันจึงแปลว่า โทษทางโลก

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า โลกวัชชะ (อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ) ว่า โทษทางโลก, อาบัติที่เป็นโทษทางโลก เช่น ภิกษุเสพสิ่งเสพติด มี ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น จัดว่าเป็น โลกวัชชะ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบ้านเมืองจัดว่าอยู่ในสิ่งที่ผิด แต่ในทางพระวินัย ก็จัดเป็นปัณณัตติวัชชะ แปลว่า โทษทางพระบัญญัติ ซึ่งเป็นเพียงอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติขั้นลหุโทษ มีโทษน้อย ไม่ถึงกับต้องลาสิกขา

แต่เหตุที่เมื่อภิกษุเสพสิ่งเสพติดผิดกฎหมายแล้ว ต้องลาสิกขา ทั้งๆ ที่โทษทางพระวินัยเป็นเพียงอาบัติเบา เล็กน้อย ก็เพราะโทษทางบ้านเมืองเป็นโทษที่ร้ายแรง

ด้วยเหตุนี้ ในบางกรณี ถึงโทษทางพระวินัยจะไม่ร้ายแรง แต่หากโทษทางบ้านเมืองมีความร้ายแรง ฝ่ายคณะสงฆ์จึงมีมติให้พระภิกษุยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย

ดังนั้น จึงสรุปว่า โลกะวัชชะ หมายถึง โทษที่พระภิกษุกระทำแล้ว ผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นปัณณัตติวัชชะ (โทษทางพระวินัย) ก็ตาม

เพื่อความเข้าใจถูกต้องของผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย จึงอย่าได้เข้าใจประเด็นนี้ในทางที่ผิด เพราะบางครั้ง พอเราเห็นพระปั่นจักรยาน เป็นต้น ก็มักจะพูดกันว่า "มันไม่ผิดวินัยสงฆ์หรอก แต่เป็นโลกวัชชะ

คำถาม ก็คือ การขี่จักรยาน เป็นสิงที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือ ? หากเป็น ก็กล่าวว่า เป็นโลกวัชชะ ได้ หากไม่เป็น ก็กล่าวเช่นนั้น ไม่ได้"

ท่านใดสนใจศึกษามากขึ้น ขอแนะนำไปหาดูที่ http://palungjit.org/dict/index.php?cat=0 เป็นหลักที่นำมาจากงานของ หลวงพ่อประยุทธ์ ปยุตโต ซึ่งผมก็ศึกษาจากงานเขียนของท่านนี่แหละครับ มีหลักหลากหลาย เข้าใจได้ง่ายๆ

และขอแนะนำให้อ่าน บทความนี้จาก ผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/1e3ku0) นะครับ รายละเอียดมีดังนี้

"เรื่องโทษที่ไม่ร้ายแรงในทางพระธรรมวินัยสงฆ์ เราเรียกว่า โลกวัชชะ ทำให้โลกติเตียนพระ ชาวโลกตำหนิติเตียน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า โลกวัชชะ (อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ) ว่า โทษทางโลก, อาบัติที่เป็นโทษทางโลก, ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ

โลกวัชชะ ใช้เรียกอาบัติหรือความผิดของพระภิกษุที่ชาวโลกตำหนิติเตียนว่าไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณะ

ความผิดที่เป็นโลกวัชชะนั้น เช่น การทะเลาะวิวาท ทำโจรกรรม ฆ่าคนตาย ความผิดอย่างนี้ แม้คนทั่วไปทำ ก็ถูกตำหนิติเตียนเหมือนกับพระภิกษุไปทำ แต่พระภิกษุที่ได้ชื่อเป็นผู้วางตัวเหมาะสม ยิ่งต้องถูกตำหนิมากขึ้น

อีกประการ การกระทำบางอย่าง แม้ไม่เป็นความผิดตามพระวินัย แต่ก็เป็นโลกวัชชะ คือ ถูกตำหนิติเตียนได้ เช่น สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ส่งเสียงดังในที่ชุมนุมชน ไม่เอื้อเฟื้อแก่สตรีและเด็ก เป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาความผิด ได้มีบัญญัติไว้ในพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เป็นกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยความผิดและวิธีลงโทษทางการปกครอง

โดยเจ้าสังกัด เจ้าของเขต มีอำนาจพิจารณาลงโทษแก่พระภิกษุหรือสามเณร เมื่อปรากฏว่าประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(1) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ด้วยการ

(ก) ละเมิดพระวินัยอันเป็นโลกวัชชะ

(ข) บิดเบือนพระธรรมวินัยให้วิปริต หรือกล่าวตู่พระธรรมวินัย หรือตีความพระธรรมวินัยตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ยึดหลักคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา

หรือ (ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่พระพุทธศาสนา หรือให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา

(2) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปกครองคณะสงฆ์ด้วยการ

(ก) ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎ มส. ข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง มติ หรือประกาศของ มส.

(ข) ฝ่าฝืนพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่สั่งโดยชอบ

(ค) ประพฤติอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารงานของคณะสงฆ์

ในกรณีพระภิกษุผู้กระทำผิดตาม (1) หรือ (2) เป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าสังกัดหรือเจ้าของเขตใกล้ชิดที่ความผิดเกิดขึ้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยการลงโทษ

ทั้งนี้ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิดมี 4 สถาน คือ (1) ให้สละสมณเพศ (2) ตำหนิโทษ (3) ภาคทัณฑ์ (4) ว่ากล่าวตักเตือน

แต่หากเป็นโทษที่พระรูปนั้นประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณสารูป หรือโลกวัชชะ โทษที่จะลงแก่พระภิกษุหรือสามเณรที่กระทำความผิด คือ การว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น"

หน้า 29
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7275 ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ ศาลาวัด

ครับ จากเรื่อง ปาราชิก 4 ก็แฉลบไปถึง โลกวัชชะ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีทางพระศาสนา เพื่อเป็นการปกป้องศาสนา ทำศาสนาให้สะอาด ชาวพุทธที่ดี ต้องรู้และเข้าใจหลักธรรม และปกป้องศาสนา การตักเตือนพระทุศีล (พระที่ทำผิดศีลธรรม) ไม่ใช่ความผิดหรือการทำลายศาสนา แต่เป็นการ กำจัดคนชั่ว (พระทุศีล) ซึ่งจะมีความดีต่อเนื่องคือ ส่งเสริมคนดี (พระดี) ให้ได้รับกำลังใจในการสืบต่อศาสนาต่อไป

แต่...อย่าลืมว่า หากคุณต้องการทำนุบำรุงศาสนาด้วยวิธีนี้ คุณต้องมี "หลักฐานที่เชื่อถือได้" ตามหลักที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนั้นให้แน่ โดยรู้อาบัติ และ วินัยสงฆ์ เสียก่อนถึงจะสามารถพูดได้ถูกต้อง แน่นหนักหากใช้ความคิดของตัวเอง ด้วยความโกรธ ความแค้นส่วนตัว คุณไม่มีทางกำจัดได้ เพราะสิ่งที่ทำนั้น จะเป็นแต่เพียง การกลั่นแกล้งพระ เท่านั้นเอง คุณจะเป็นผู้เพรี่ยงพร้ำเสียท่าเสียเอง 

คนฉลาดจะทำอะไร อย่าบุ่มบ่าม รู้อะไรให้นิ่งเงียบ และหาต้นตอและความจริงก่อน ถ้ากระโตกกระตาก อีกคนก็ต้องรู้ทันและหาทางป้องกันได้ จำไว้ว่า คุณแพ้ตั้งแต่เริ่มก้าวแรกแล้ว 

ขอต่ออีกหนึ่งเรื่องสุดท้าย เพราะสามารถปรับอาบัติภิกษุที่อาจจะทำผิดได้แบบที่เราไม่รู้ว่าเขาผิดอะไรแน่ แต่มีเหตุให้ปรับอาบัติหนักได้เช่นกัน หากการกระทำเข้าข่าย นั่นคือเรื่อง อนิยต (อ่านว่า อะ-นิ-ยด)

เรื่องของ อนิยต 2


มีหลักธรรมอีกข้อหนึ่ง คือ อนิยตาบัติ หรือ อาบัติที่ไม่แน่นอนว่า จะปรับอาบัติไหนดี จึงขึ้นอยู่กับพยานที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดการ ซึ่งมี 2 ข้อ คือ

1. การอยู่ในที่ลับหูกับหญิง สองต่อสอง
2. การอยู่ในที่ลับตากับหญิง สองต่อสอง

จะมีให้ได้ศึกษาต่อไปว่า แบบไหนพอทำได้ แบบไหนทำไม่ได้ ต้องเข้าไปศึกษาเองนะครับที่ http://84000.org/tipitaka/pitaka1/vinai01i.php

ย้ำว่า ควรเข้าไปอ่าน ตามเว็บบรรทัดข้างบนนั้นก่อน

ในเว็บไซต์ http://pantip.com/topic/30564423 ได้มีคนสงสัยและยกคำถามเกี่ยวกับ อนิยต ขึ้นมาถาม และมีคนตอบ ได้เป็นอย่างดี คือ

"สงสัยเกี่ยวกับศีลข้ออนิยตกัณฑ์ตามข้างล่างนี้
1 การคุยโทรศัพท์ถือว่าผิดศีลข้อนี้หรือเปล่า ถ้าข้อนี้ไม่ผิดจะผิดข้อไหนหรือไม่
2 การแชทกันในเช่นคุยกันในไลน์ วอทแอป ฯลฯ ถือว่าผิดศีลข้อนี้หรือเปล่า ถ้าข้อนี้ไม่ผิดจะผิดข้อไหนหรือไม่
3 สตรีที่ถูกพระค่อนแคะแต่ยังคุยโต้ตอบกับพระผิดด้วยหรือไม่ ถ้าผิดจะได้รับผลกรรมอย่างไร
4 ถ้าสตรีเป็นแม่หรือญาติแท้ๆจะผิดหรือไม่"

และได้มีผู้เข้ามาตอบคำถาม ซึ่งเป็นไปตามธรรม ท่านหนึ่ง ได้ตอบไว้อย่างน่าฟังว่า 

"อนิยตาบัติ คืออาบัติที่อยู่ระหว่างความไม่แน่นอน คือจะเป็นก็ได้ไม่เป็นก็ได้

ข้อแรก ภิกษุอยู่ในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง (แต่มีคนอยู่ใกล้ได้ยินเสียงตลอด) ถ้ามีคนควรเชื่อถือได้มาพูดด้วยธรรม 3 อย่าง คือ (คือปรับอาบัติความผิด)

ปาราชิก๑ (คือว่าได้ยินเสียงก็จริงแต่ระหว่างกายอาจจะมีเสพเมถุนธรรม) 

สังฆาทิเสส๑   (คือไม่ถึงกับเสพเมถุนแต่อาจจะมีต้องตัวกัน)   ปรับข้อนี้ได้เพราะต้องตัวกันแต่ไม่ถึงล่วงเมถุนเป็นอาบัตสังฆาทิเสสด้วยยินดีต้องกายหญิง

ปาจิตตีย์๑      (คือไม่ล่วงสองอย่างข้างต้น)      ปรับที่ว่าอยู่ในที่ลับตาบังตาสองต่อสอง

เค้าปรับอย่างไรให้รับอย่างนั้น คือเค้าเห็นว่าควรผิดอย่างไร ตามที่เค้าพิจารณาแล้ว เค้าปรับอย่างไรท่านก็ต้องรับว่าเป็นอย่างนั้น เว้นแต่มีเหตุผลและหลักฐานยืนยันในความผิด

ข้อที่สอง        ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง(คือคนอื่นมองเห็น แต่ไม่รู้ว่าท่านพูดอะไรกัน)   ถ้ามีคนควรชื่อถือได้มาพูดด้วยธรรมสองอย่างคือ

สังฆาทเสส๑  (คือว่าในกรณีมองเห็นว่าไม่มีการต้องตัวกันและกัน แค่คุยแต่ไม่ได้ยินว่าคุยอะไรกัน)     ปรับข้อนี้เพราะอาจจพูดเกี่ยวหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม เป็นอาบัติสังฆาทิเสส
ปาจิตตีย์       (คือไม่พูดเกี้ยวหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม)  แต่ปรับเพราะอาจจะแสดงธรรมสองต่อสองกะหญิง ซึ่งเป็นอาบัติปาจตตีย์ 

ข้อสองไม่ปรับปาราชิกก่อนเพราะว่ามองเห็นอยู่หมายเอาว่าไม่ละเมิดเมถุนธรรม

ต่อคำว่า ถ้ามีคนที่เชื่อถือได้มาพูดด้วยธรรม  คนที่เชื่อถือได้นั้น ตอนที่เรียนท่านหมายว่า อย่างต่ำๆต้องเป็นพระโสดาบัน  สมัยนี้หารู้แจ่มแจ้งกันไม่ว่าใครบรรลุ  ก็คงเป็นคณะสงฆ์แหละที่จะตัดสินความผิด

การคุยโทรศัพท์ สมัยก่อนไม่มี ถ้าเทียบเคียงก็ผิดได้ครับ

การคุยทาง วอทแอบ หรือไลน์ ถ้าปรากฎเป็นสาธารณะ แล้วเนื้อความไม่มีละเมิด เช่นการหวังให้บำเรอตนด้วยกาม ก็ไม่ปรับครับ

ถ้าพระพยายามไม่พูดไม่คุย หญิงเสียมารยาทครับ

จะเป็นใครก็แล้วแต่ ผมว่าไม่ควร เพราะคนอื่น ไม่รู้ว่าเรากะหญิงนั้นเป็นใคร

ต้นเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัยนี้ ก็เพราะคนติเตียนครับ   แล้ว 
ถ้าเราคุยกะพี่สาว หรือคุณแม่เรายังสาวอยู่
คนอื่นไม่รู้เค้าก็ติเตียนอยู่ดีครับ
เว้นได้เว้นครับ เพื่อความผาสุกแห่งหมู่สงฆ์"

ลองไปศึกษาเรื่อง อนิยต ด้วยจะดีมาก ลองศึกษาจากงานของ หลวงพ่อ ประยุทธ ปยุตโต ดูครับที่ http://84000.org/tipitaka/pitaka1/vinai01i.php และนี่ลิงค์เกี่ยวกับเณรคำ http://goo.gl/CDqMnE ยังมีอีกมากมายตัวอย่าง ให้อ่าน

ตัวอย่าง อนิยต
เนื้อหาบางส่วนของอนิยต

สรุปเรื่อง ปาราชิก 4 ใช่ว่า จะมีแค่นี้ที่จะทำให้พระทุศีล ถูกทำโทษได้ แต่ยังมีข้อพิจารณาอื่นๆ อีกหลายประการ แต่ว่า หลักฐานและพยาน ต้อง "เชื่อถือได้" จึงจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และ "หนักแน่น" เพราะหาไม่แล้ว การกำจัดพระทุศีลนั้น "เป็นเรื่องยากมาก" เพราะพระด้วยกัน ส่วนมากมักจะมีเบื้องหลังที่ไม่แตกต่างกันนัก ก็เลยเกิดความเกรงใจ กลัวโดนเปิดโปง หรือ บางทีก็เกรงพระผู้ใหญ่ที่เข้าข้างพระทุศีลรูปนั้นๆ มันจึงเอวังได้อย่างสงบเงียบ หรือ เงียบเหมือนเป่าสาก ต่อไป

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "ปาราชิก 4 "

แสดงความคิดเห็น