การทำสวนยางแบบละเอียด 11: วิธีการกรีดยาง

การทำสวนยางแบบละเอียด 11: วิธีการกรีดยาง


การกรีดยาง 

การกรีดยาง ใช่ว่าเป็นเพียงการนำมีดกรีดยางมากรีดแล้วได้ผลเหมือนกันหมด แต่ต้องคิดเสมอว่า ทุกมีดที่เราลงมือกรีดนั้น ต้องให้ได้ น้ำยางมากที่สุด โดยทำให้เปลือกยางเสียหายน้อยที่สุด เพื่อจะได้ยืดระยะเวลาในการกรีดให้ได้ถึง 25-30 ปี ซึ่งจะให้ผลคุ้มค่ามากกว่า อีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุดด้วย

เคยเห็นมีบางคนต้องการให้ได้น้ำยางมากเกินเหตุ กรีดลึกเข้าไปถึงแกนเลยก็มี ทำให้บางคนทนดูไม่ได้ก็ไปแนะนำ และทำแนวให้ว่าควรกรีดลึกสึกเท่าไร ก็ทำตามได้ไม่กี่วันก็ทำอีกแล้ว นี่เป็นความตั้งใจทำลายต้นยางก็ว่าได้ อย่าทำนะครับ

ขนาดของต้นยางที่เปิดกรีดได้ 

1. ต้นยางที่เมื่อเราวัดขนาด ณ ความสูงจากพื้นดิน 150 ซม. มีรอบต้นใหญ่ตั้งแต่ 50 ซม. เป็นต้นไป เพราะจะให้น้ำยางได้ดีกว่าต้นที่มีขนาดเล็ก และยังเป็นการทำให้ต้นยางพารา ต้านทานโรคได้ดีกว่าด้วย 
2. เปิดกรีดครั้งแรกเมื่อมีจำนวนต้นยางที่พร้อมเปิดกรีดในสวนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ของต้นยาง ทั้งหมดในสวน เช่นในสวนเรามีต้นยางทั้งหมด 2,000 ต้น ก็ต้องมีต้นยางพาราที่มีขนาดเส้นรอบวง ตั้งแต่ 50 ซม.ขึ้นไป อย่างน้อย 1,000 ต้น 
3. ต้นยางติดตา สามารถเปิดกรีดครั้งแรกได้ที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 50, 75, 100, 125, หรือ 150 เซนติเมตรระดับใดระดับหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเปิดกรีดต่ำ จะได้รับผลผลิตมากกว่า 
   

วิธีติดรางและถ้วยรับน้ำยาง 

เวลาที่เหมาะสมในการกรีดยาง 

คำแนะนำจาก กรมวิชาการการเกษตร แนะนำไว้ว่า ควรจะเริ่มกรีดยางในช่วงเช้า คือ เวลาประมาณ 06.00-08.00 น. เพราะจะทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวก เนื่องจากมองเห็นชัดเจนกว่ากลางคืนและผลผลิตที่ได้ใกล้เคียงกับการกรีดในตอนกลางคืน

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละพื้นที่ และฤดูกาล ก็สามารถจะปรับให้เหมาะสมได้ โดยการทดลองกรีด เพื่อความสะดวกในการดำรงชีวิตและช่วงเวลาของพื้นที่ตนเองได้เช่นกันครับ (วิชาการนอกตำรา: จากประสบการณ์)

แรงงานที่ใช้ในการกรีดยาง

แรงงานที่ใช้ในการกรีดยาง จากการคำนวณจำนวนแรงงานในการกรีดยางแบบสบายๆ นั้นคนกรีดยาง 1 คน จะสามารถกรีดยางในสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ราบ ตามระบบครึ่งลำต้นวันเว้นวัน ได้ประมาณ 400-450 ต้นต่อวัน 
ส่วนการกรีดยาง ตามระบบแบ่งสามส่วนหรือสี่ส่วนของลำต้น สองวันเว้นวัน จะสามารถกรีดได้ 700-750 ต้นต่อวัน

วิธีการกรีดยาง 

ควรกรีดยางโดยใช้วิธีกระตุกข้อมือหรือการซอย พร้อมกับย่อตัวและสลับเท้าไปตามรอยกรีด ของต้นยาง อย่ากรีดโดยวิธีใช้ท่อนแขนลากหรือกระชากเป็นอันขาด การกรีดโดยวิธีกระตุกข้อมือจะทำให้กรีดได้เร็ว ควบคุมการกรีดง่าย กรีดเปลือกได้บาง แม้จะกรีดบาดเนื้อไม้ก็จะบาดเป็นแผลเล็กๆเท่านั้น 

ระบบการกรีดยาง 

เนื่องจากในระยะ 2-3 ปีแรกของการกรีด ต้นยางยังอยู่ในระยะการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง การกรีดยาง มากเกินไปจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรกรีดยางในระบบครึ่งต้นวันเว้นวัน โดยหยุดกรีดในช่วงผลัดใบและไม่มีการกรีดชดเชยเพื่อ ทดแทน วันที่ฝนตกจนกระทั่งปีที่ 4 ของการกรีดเป็นต้นไป จึงสามารถกรีดชดเชยได้ระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวันนี้ใช้ได้กับยาง เกือบทุกพันธุ์ ยกเว้นบางพันธุ์ที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่ายเท่านั้นที่ควรใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น วันเว้นสองวัน 

ข้อควรปฏิบัติในการกรีดยาง 

1. ควรกรีดยางตอนเช้าหลังจากที่มีแสงสว่างแล้ว 
2. กรีดยางเฉพาะต้นที่ได้ขนาดแล้ว 
3. รอยกรีดจะต้องเริ่มจากซ้ายบนมาขวาล่าง เอียงประมาณ 30 องศากับแนวระดับ 
4. อย่ากรีดเปลือกหนา เพราะจะทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหาย 
5. อย่ากรีดเปลือกหนา ภายใน 1 เดือน ไม่ควรกรีดให้เปลืองเปลือกเกิน 2.5 เซนติเมตร หรือภายใน 1 ปี ไม่ควรกรีดให้เปลืองเปลือกเกิน 25 เซนติเมตร 
6. หยุดกรีดเมื่อยางผลัดใบหรือเป็นโรคหน้ายาง 
7. มีดกรีดยางต้องคมอยู่เสมอ 
8. การเปิดกรีดยางหน้าที่สองและหน้าต่อไปให้เปิดกรีดที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร 

การกรีดยางหน้าสูง 

การกรีดยางหน้าสูง หมายถึง การกรีดยางหน้าบนเหนือหน้ากรีด ปกติซึ่งเป็นส่วน ที่ไม่เคยกรีดยางมาก่อน ต้นยางที่เหมาะสมที่จะทำการกรีดยางหน้าสูงคือ ต้นยางก่อนโค่นซึ่งมีอายุมาก หรือหน้ากรีดปกติเสียหาย 
โดยทั่วไปการกรีดยางหน้าสูงจะต้องใช้สารเคมีเร่งน้ำยาควบคู่กันไปด้วย เพื่อต้องการให้ได้รับยาง มากที่สุดก่อนที่จะโค่นยางเก่าเพื่อปลูกแทน 2-4 ปี โดยใช้สารเคมีเร่งน้ำยางอีเทรล 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเร่ง 

การใช้สารเคมีเร่งน้ำยางกับรอยกรีดหน้าล่าง 

การใช้สารเคมีเร่งน้ำยางกับรอยกรีดหน้าล่าง นี้เหมาะสำหรับต้นยางที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยใช้สารเคมีเร่งน้ำยางเข้มข้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ ทาเหนือรอยกรีดหน้าล่างทุก 3 สัปดาห์โดยไม่ต้องขูดเปลือกและลอกขี้ยาง แต่ต้องกรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวันโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดอาการ โรคเปลือกแห้ง ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี เร่งน้ำยายางกับยางที่เพิ่งเปิดกรีดใหม่ ยกเว้นยางบางพันธุ์ที่มักจะให้น้ำยางน้อย ในช่วงแรก ของการเปิดกรีด เช่น พันธุ์จีที (GT) 1 อาจใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง 2.5 เปอร์เซ็นต์ทาในรอยกรีด โดยลอกขี้ยางออกก่อนจากที่เปิดกรีดไปแล้ว 1 เดือนก็ได้และทาสารเคมีเร่งน้ำยางทุก 3-4 เดือน หรือปีละ 3-4 ครั้ง ใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นสองวัน แต่ในปีถัดไปถ้าผลผลิตสูงขึ้น แล้วควรหยุดใช้ สารเคมีเร่งน้ำยาง 


.......................

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การทำสวนยางแบบละเอียด 1 : ยางพาราไทย
การทำสวนยางแบบละเอียด 2 : ประวัติยางพาราเข้าสู่ประเทศไทย
การทำสวนยางแบบละเอียด 3 : การเตรียมพื้นที่ปลูกยางพารา
การทำสวนยางแบบละเอียด 4 : สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกยาง
การทำสวนยางแบบละเอียด 6 : ชนิดของต้นพันธุ์ยาง
การทำสวนยางแบบละเอียด 7 :  พันธุ์ยางพารา ที่แนะนำให้ปลูก
การทำสวนยางแบบละเอียด 8 : การเสริมรายได้ในสวนยาง
การทำสวนยางแบบละเอียด 9 : การกำจัดวัชพืช
การทำสวนยางแบบละเอียด 10: การใส่ปุ๋ยยางพารา
การทำสวนยางแบบละเอียด 11: วิธีการกรีดยาง


การทำสวนยางแบบละเอียด 13: ผลิตผลและการแปรรูปยาง

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "การทำสวนยางแบบละเอียด 11: วิธีการกรีดยาง"

แสดงความคิดเห็น