ยางก้อนถ้วย ไม่ใช่ ยางก้นถ้วย

ยางก้อนถ้วย ไม่ใช่ ยางก้นถ้วย

การทำสวนยางพารา ทำให้เราได้ยินคำว่า ยางก้นถ้วย ยางก้อนถ้วย เป็นประจำ แต่สำหรับคนที่มีอาชีพอื่น ไม่ค่อยชินกับคำเหล่านี้ทำให้แยกไม่ออกว่า คำไหนคือคำที่ถูกต้อง ถ้าเป็นคนทั่วไปคงไม่มีอะไรให้ผมนำมาเขียนไว้ในที่นี้หรอก แต่นี่ คนที่ทำงานอยู่ในวงการสื่อสาร ซึ่งเป็นที่อ้างอิงของผู้ชม เมื่อพูดผิด ก็ผิดต่อๆ กันไป นั่นสิ

คนที่สวนยางพารา เขาขายอะไร?

ปกติคนที่ทำสวนยางพารา จะมีการขายยางอยู่ 3 แบบ คือ
- ขายน้ำยางพารา
- ขายยางแผ่น
- ขายยางก้อนถ้วยและเศษยาง

ยางก้นถ้วย คือ ยางแบบไหน?

คำว่า ยางก้นถ้วย คือ ยางที่ติดอยู่ก้นถ้วย เออเนาะ ง่ายจังเลย แต่ก็ต้องบอกต่อไปแหละครับว่า ยางก้นถ้วยนั้นเป็นยางที่ติดกันถ้วย เนื่องจากชาวสวน ได้เทเอาน้ำยางออกไปขาย ในรูปแบบของ "น้ำยาง" ดังนั้น จะมีส่วนที่ติดอยู่ก้นถ้วย ปกติคนงานก็จะดังเอาส่วนน้ำออกมาจากจอกรับน้ำยาง รวบรวมไว้ขายเป็น "เศษยาง" ตอนนี้คงรู้แล้วนะครับว่า ไม่มีคำว่า ยางก้นถ้วย ขายนะครับ เพราะมันแปลงร่างเป็น เศษยาง ไปเรียบร้อยแล้ว

ยางก้อนถ้วย คือ ยางแบบไหน?

ยางก้อนถ้วย เกิดจากการที่ชาวสวน หรือ คนกรีดยาง ได้กรีดให้น้ำยางออก แล้วไหลไปลงไปรวมกันที่ จอกรับน้ำยาง ซึ่งพอถึงเวลาที่น้ำยางไหลลงเกือบจะหยุด หรือ หยุดในแต่ละวัน ชาวสวนยาง ก็จะนำเอา กรดฟอร์มิค มาหยอดแล้วคนๆๆๆ ให้น้ำยางจับตัวแข็งเป็นก้อนค้างอยู่ในจอก สะสมไปทุกวันๆ จนกว่าจะนำออกขาย โดยส่วนมากแล้ว พ่อค้าจะรับซื้อเมื่อกรีด 6 ครั้งขึ้นไป หรือ ชาวสวนเรียกว่า 6 มีด 

ขอกล่าวถึงเรื่องจำนวน มีด หน่อยนะครับ ที่จริงผมเคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งละ
-ถ้าระบบกรีด 2 เว้น 1 ก็จะนับ ดังนี้ วันที่ 1, 2 (เว้นกรีดวันที่ 3) วันที่ 4, 5 (เว้นกรีดวันที่ 6) วันที่ 7, 8 (เว้นกรีดวันที่ 9) นับแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้า 6 มีด ก็คือ กรีดวันที่ 1,2,4,5,7,8 ก็นำออกขายได้

ส่วนการขายยางก้อนถ้วยจะแล้วแต่พ่อค้าจะรับ ผมขอแยกเป็น 3 แบบก็แล้วกัน

-ขายแบบ ควักแล้วขาย เรียกว่า ขายยางเปียก คือ จะขายวันไหนก็ควักก้อนยางออกจากจอก ใส่กระสอบไปขายทันที (น้ำยางก็ไหลออกแต่ยังมีอยู่เยอะ)
-ขายแบบ ค้างคืน เรียกว่า ขายยางเปียกค้างคืน คือ ถ้าจะขายวันพรุ่งนี้ วันนี้ต้องควักยางก้อนออกจากจอกยาง ใส่กระสอบ และเก็บไว้ เพื่อไปขายวันพรุ่งนี้ (ทำให้น้ำหยดออกจากก้อนยางเยอะหน่อย)
-ขายแบบก้อนยางแห้ง แบบนี้ผมเห็นที่ สหกรณ์ยางพาราจังหวัดลำปาง เขารับซื้อแบบว่า ถ้าเอามีดผ่าดูข้างในก้อน จะต้องไม่ชื้น คือต้องแห้งมาก โดยทั่วไปชาวสวนยางจะกรีดสัก 3 มีด แล้วเอาห้อยไว้ที่ข้างต้นยาง เพื่อให้หยัดน้ำ

ราคายางพารา ก้อนถ้วยต่างกัน อย่างไร

จริงๆ แล้วก็เป็นไปตามระบบมันนั่นแหละครับ คือ ชื้นมากก็ราคาถูกกว่า ที่ชื้นน้อย จึงมีราคาต่างกันดังนี้

1. ถ้า ราคาที่ประมูลกัน และรัฐบาลประกาศ ว่า "38 บาท"
2. ราคามาตรฐานที่พ่อค้าจะตั้งเป็นเกณฑ์เพื่อคำนวณราคา คือ "22 บาท"
3. ราคาที่ชาวสวนจะได้ขายคือ ระหว่าง "13 - 19 บาท" 
จากข้อ 2 สาเหตุที่ราคาจริงเหลือ แค่น้ำเพราะเขาไปหัก ค่า DRC หรือ ปริมาณเนื้อยางแห้งที่มีอยู่ในยางก้อนถ้วย 

เราจะเห็นว่า บ่อยครั้งที่มีการพูดถึงราคายางพารา ระหว่าง ชาวสวนยางกับรัฐบาล มักจะบอกราคาที่ไม่เท่ากัน เพราะ รัฐบาลบอกข้อ 1 ชาวสวนที่ออกโรงเรียกร้องบอกราคา ในข้อสอง  

ทีนี้ขอย้อนไปพูดถึงราคายาง 3 อย่างที่ผมกล่าวไว้ก่อนหน้านั้นราคาจะต่างกันไปดังนี้
-ควักแล้วขาย ราคา 14 บาท
-ยางค้างคืน ราคา 15-17 บาท
-ยางแห้งฉิบหาย ราคา 25 บาท 
การขายยางพาราแบบแห้งที่สุดนี้ เหมือนจะแพงนะ แต่ที่จริงน้ำหนักหายเยอะมากครับ ได้ราคาแพงแต่น้ำหนักหายเยอะ ผมลองคำนวณดูแล้วเราเสียเปรียบมาก ผมไม่ขายแบบนี้เลย

ขางยางก้อนถ้วย

ตกลงว่า ตอนนี้ คำที่ถูกต้องคือ ยางก้อนถ้วย ไม่ใช่ ยางก้นถ้วย นะครับ คำนี้สำคัญนะ เพราะมันทำให้เราได้รู้อะไรอีกหลายอย่างเลย แต่ถ้าพูดผิด ก็เสียหายคนได้นะครับ อย่างไรก็ตาม เราชาวสวนยาง ก็รู้สึกดีขึ้นมากแล้ว เพราะราคายางพารา แพงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่บ้างแล้ว แต่ขอติงนิดหนึ่ง คือ ทำไมมาแพงเอาตอนที่จะหยุดกรีดยางเล่าครับ ท่านนายกฯที่เคารพ???

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "ยางก้อนถ้วย ไม่ใช่ ยางก้นถ้วย"

แสดงความคิดเห็น