ข้อคิดก่อนทำการเกษตร
วันนี้ เกษตรกรพอเพียง อยากนำเอาเรื่อง ข้อคิดก่อนการทำการเกษตร มาลงเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับคนที่ต้องการทำไม่ว่าจะเป็นการทำเป็นอาชีพอย่างจริงจัง หรือ ทำเพื่อเป็นการผ่อนคลายก็ตาม ผมเห็นว่า นอกจากความพร้อมทางด้านจิตใจและความรู้นั้นยังไม่พอ ทางด้านร่างกายและอุปนิสัย ก็สำคัญไม่น้อย ดังนั้น การจะเป็น เกษตรกร ที่ประสบผลสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยอะไรหลายๆ อย่างผสมผสานกัน จึงจะสำเร็จและเป็นไปได้ดี จึงขอนำเอาเนื้อหาจากเว็บไซต์ siamsouth.com มาลงไว้ให้อ่านกัน เพื่อจะได้คิดก่อนที่จะลงมือทำจริงๆ ขอบคุณภาพจาก region4.prd.go.th
เนื้อหาเรื่อง ข้อคิดก่อนทำการเกษตร
ไม่ว่าจะทำการเกษตรในรูปแบบใด เกษตรกรส่วนใหญ่มักมีคำถามในใจที่เหมือนๆกัน คือ “ทำการเกษตรอย่างไรให้อยู่รอด” ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมเองก็ได้ยินและรับรู้เรื่องราวปัญหาของชาวเกษตรกร ไม่ว่าจะค่าปุ๋ย-ค่ายาที่มีราคาแพง ค่าเชื้อเพลิง ค่าแรงงาน แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในครัวเรือนตางๆของเกษตรกรเอง หลายครั้งหลายคราที่ต้องปิดถนน เดินขบวน เรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจลงมาช่วยเหลือ สารพัดปัญหาต่าง ๆ นา ๆ
แต่มีกี่รายที่มองย้อนดูตัวเองบ้างว่า เป้าหมายของการทำการเกษตรของตนมีอะไร มีความพร้อม ความรู้แค่ไหน ต้นทุนพอเพียงหรือไม่ ผมเองก็พอจะได้รวบรวมประสบการณ์และความรู้จากภายนอกมาได้พอที่จะให้ ท่านๆที่อยากจะทำการเกษตรหรือทำการเกษตรอยู่แล้ว ได้พิจารณาหรือนำเอาไปปฎิบัติ
1.ข้อห้ามในการทำการเกษตร
1.1 ห้ามพูดว่าไม่มีเวลา (เพราะแสดงให้เห็นว่า คุณขี้เกียจ)
1.2 ห้ามพูดว่าแถวนี้ไม่มีใครเขาทำ (เพราะแสดงให้เห็นว่า คุณก็ไม่แตกต่างจากคนอื่น แค่ทำตามเขา)
1.3 ห้ามเชื่อคนข้างบ้าน (เพราะเขาเองก็อาจจะทำตามคนอื่น โดยไม่ถูกต้อง เช่นเรื่องปุ๋ย เรื่องยา)
1.4 ห้ามเชื่อคนขายยา (เพราะบางครั้ง เขาไม่มีสิ่งยาที่คุณต้องการ แต่ก็จะบอกคุณว่า ยี่ห้อนี้ สูตรนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน)
2. วางแผนก่อนลงมือทำ
2.1 ใช้หลักการตลาดนำการผลิต (หากคิดทำเพื่อการค้า)
2.2 ปลูก/เลี้ยง อะไรก็ได้ ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับเวลาและทุนที่เสียไป
2.3 ปลูกพืชที่ให้ผลผลิตในช่วงที่ที่ขาดตลาด (นอกฤดู)
2.4 บำรุงและรักษาคุณภาพให้ดี สม่ำเสมอ (การบำรุงมี 2 อย่าง คือ เพื่อเสริมคุณภาพ และ รักษาคุณภาพ)
3. ศึกษาข้อมูลปัจจัยการเพาะปลูก
3.1 ความเหมาะสมของสภาพดิน เช่น ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย
3.2 คุณภาพและปริมาณของน้ำ ที่นำมาใช้ เพราะพืชทางด้านการเกษตรบางประเภทต้องใช้มาก หรือบางอย่างอาจจะไม่ต้องการน้ำมาก
3.3 สภาพภูมิอากาศ ที่เหมาะสมกับพืชนั้น เช่น แสงแดด อุณหภูมิ ฤดูกาล
3.4 ธาตุอาหารที่จำเป็น คือ ธาตุอาหารหลัก N, P, K และ ธาตุอาหารรอง รวมไปถึงจุลธาตุด้วย
3.5 สายพันธุ์ของพืชที่จะนำมาปลูกนั้น ว่าเป็นสายพันธุ์จริง หรือ ดัดแปลง
3.6 โรคและศัตรู รวมถึงการป้องกันและกำจัดศรัตรูพืช เพราะเมื่อเจอปัญหาแล้วจะได้แก้ไขด้วยตนเอง ไม่ต้องตกใจ
4.ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี
4.1 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ในกรณีที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก
4.2 การใช้ปุ๋ยทางใบควรมีการใช้สลับกันระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยน้ำ หรือใช้ร่วมกัน
4.3 ลดธาตุหลัก แต่เพิ่มธาตุรอง และธาตุเสริม
4.4 ในแต่ละวิธีการผลิต เกษตรกรควรปรับวิธีการการผลิตให้เหมาะสม
4.5 ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำหรือฮอร์โมน เกษตรกรควรทำขึ้นใช้เอง
5.ลดต้นทุนค่าสารเคมี
5.1 ใช้สารสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง
5.2 ปรับวิธีการใช้ โดยใช้สารเคมีสลับกับสารสมุนไพรทำเอง โดยค่อยๆลดปริมาณการใช้สารเคมีลง
5.3 ใช้การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการผสมผสาน
5.4 สารสมุนไพรที่ใช้ควรทำขึ้นมาใช้เอง
6. เปลี่ยนทัศนคติ
หลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้ละทิ้งแนวทางการผลิตที่อาศัยธรรมชาติและภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ เข้ามาสู่การใช้สารเคมีในรูปแบบต่างเพื่อการผลิต โดยมุ่งเน้นรายได้เป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนและความเสียหายที่ตามมา และทุกวันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเกษตรแบบอินทรีย์ชีวภาพ นำสารเคมี เป็นการทำการเกษตรที่ได้ผลและคุณประโยชน์มากกว่า การทำเกษตรเคมีเดี่ยวๆ ซึ่งบทพิสูจน์ในเวลานี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มากมายหลายแห่ง แทบทุกตำบลเลยก็ว่าได้ ทั้งภาคเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ โครงการของสมเด็จท่านอีกหลายๆโครงการ ล้วนประสพความสำเร็จแล้วทั้งสิ้น ลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง หยุดความคิดเก่าๆไว้ก่อน แล้วเปิดใจเปิดเวลา ศึกษาและทดลองทำ ก็จะรู้ว่า คุ้มค่าและเกิดคุณประโยชน์แก่ตนอย่างไร
7.ข้อห้ามที่ควรจำ
7.1 อย่าหวังหรือฝากอนาคตไว้กับกิจกรรมทางการเกษตรเพียงกิจกรรมเดียว
7.2 อย่าเล็งผลหรือรายได้เพียงอย่างเดียว จนไม่คำนึงถึงผลเสีย
7.3 อย่าตกเป็นทาสโฆษณา
7.4 อย่าตามกระแส
7.5 อย่าทำตามข้างบ้าน
7.6 อย่าลืมความผิดพลาดของตน ที่ผ่านมา
หลักทั้ง 7 ข้อนี้ ก็ลองนำไปปฎิบัติกันดู ไม่ต้องรีบร้อน ค่อยๆทำ “งานทุกอย่างย่อมมีปัญหาทั้งสิ้น” รายละเอียดข้อปลีกย่อยยังมีอีกหลายอย่าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ทำเองว่า คิดอย่างไร จะทำอย่างไรแต่ของผม ใช้หลัก “ทำเกษตรตามอารมณ์ แนวเศรษฐกิจพอใจ” โดยใช้หลักการทั้ง 7 เป็นแนวทาง ครับผม...
จากเนื้อหา เรื่อง ข้อคิดก่อนทำการเกษตร ที่ได้นำมาให้อ่านกันนี้ เป็นเรื่องของความจริงที่จะปฏิเสธไม่ได้เลย อย่างผมตอนที่ทำงานอยู่ ประสบการณ์บางอย่างก็ไม่ได้เจอหรอก แต่พอเข้ามาทำการเกษตรจริงๆ จึงได้รู้ว่า บางเรื่องนั้นเกษตรกรมีโอกาสที่จะโดนล้างสมอง หรือทำให้เป็นทาสของโฆษณา ได้ง่ายมากถ้าคุณฟังวิทยุมากๆ อยากจะให้ศึกษาข้อมูลด้านวิชาการบ้าง อย่าไปมัวเชื่อเพื่อนบ้าน ที่บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า อย่าไปเชื่อนักวิชาการมากต้องลงมือทำด้วยตนเองอย่างเรานี่ แน่นอนกว่า แบบนี้ผมได้ฟังตลอดเวลา ขอให้สนุกกับการเดินตามฝันนะครับ
เพิ่มเติมว่า จริงอย่างที่ว่านี้ เพราะการทำการเกษตรที่แท้จริงนั้นจะต้อง
ตอบลบ1.มีใจรัก
2.ระยะเริ่มต้นต้องมีต้นทุนด้านพื้นที่ เครื่องมือ และเงินทองที่จะใช้
3.รู้จักหาความรู้เพิ่ม
4.รู้จักปรับปรุง และหาแนวทางที่เหมาะสม
5.ลดต้นทุน
5.อย่าเชื่อโฆษณา
เช่นเรื่องปุ๋ย ผมได้ลงไว้ที่นี่ การผสมปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน
ขอแชร์
ตอบลบมีประโยชน์มาก ขอแชร์
ตอบลบแชร์ได้ตามสะดวก และยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ
ลบเนื้อหาครบองค์ประกอบสำหรับในการคิดจะเป็นเกษตรกร
ตอบลบ- ต้องมีพิ้นที่ทำเลที่เหมาะสม
- ต้องทำตามกำลังทุนที่มี
- ค้องมีความรู้
- ต้องมีใจรักในสิ่งที่เราทำ
ถูกต้องแล้วครับ
ลบก่อนทำ ต้องศึกษา และ ดูใจตัวเองให้มาก
ไม่ทำตามแฟชั่น
แต่...ถ้าต้องการทำเป็นอาชีพที่ 2 ที่ 3 ก็สามารถทำได้นะ ดีด้วยครับ ใช้เวลาตอนเช้า กับ ตอนเย็น นิดหน่อย ก็ใช้ได้แล้ว