ข้อมูลและลักษณะของไส้เดือน - ภายนอก

ข้อมูลและลักษณะของไส้เดือน


ข้อมูลและลักษณะของไส้เดือน ซึ่งปกติเราไม่ค่อยจะรู้กัน ฉะนั้นวันนี้เราชาวเกษตรกร ลองมาเรียนรู้กันเสียหน่อยจะได้แยกแยะเป็น โดยที่เราจะแบ่งเป็นสอง ด้านคือ

1. ข้อมูลและลักษณะภายในของไส้เดือน
2. ข้อมูลและลักษณะภายนอกของไส้เดือน

ลักษณะของไส้เดือน

ลักษณะภายนอกไส้เดือน

ไส้เดือนดินมักพบโดยทั่วไปในดิน เศษกองซากพืช มูลสัตว์ ที่ๆมีความชื้นพอสมควร ปัจจุบันไส้เดือนมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยมีโครงสร้างที่มีลักษณะเหมือนกันคือ

• เป็นสัตว์ที่มีลำตัวยาวลำตัวเป็นปล้องทั้งภายนอกและภายใน ร่างกายโดยมีเยื่อกั้นระหว่างปล้อง

• มีช่องลำตัวที่แท้จริงแบบ Schizocoelomate ซึ่ง เป็นซีลอมที่เกิดจากเนื้อเยื่อชั้นกลางแยกออกเป็นช่องและช่องนี้ขยายตัวออก จนเป็นซีลอม

• ผนังลำตัวชั้นนอกสุดเป็นคิวติเคิล ที่ประกอบด้วยสารจำพวกโพลีแซคคาไรด์ เจลาติน และชั้นอิพิเดอร์มิส มีเซลล์ต่อมชนิดต่างๆ ที่ทำหน้าที่สร้างน้ำเมือกทำให้ผิวลำตัวชุ่มชื้นถัดลงไปเป็นกล้ามเนื้อตาม ขวางและกล้ามเนื้อตามยาวและชั้นในสุดเป็นเยื่อบุช่องท้องแบ่งแยกระหว่างช่อง ลำตัวกับผนังร่างกาย

• มีขนแข็งสั้นที่เป็นสารจำพวกไคติน งอกออกมาในบริเวณรอบลำตัวของแต่ละปล้อง

• มีระบบทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ คือมีปาก และ ทวารหนัก โดยมีลำไส้เป็นท่อตรงยาวตลอดลำตัว

• ระบบขับถ่ายประกอบด้วยอวัยวะที่เรียกว่า เนฟริเดีย ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของลำตัวปล้องละ 1 คู่

• ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นแบบปิด

• ระบบแลกเปลี่ยนก๊าซเป็นแบบการแพร่ผ่านผนังลำตัว

• มีระบบประสาท ประกอบด้วย ปมประสาทสมองด้านหลังลำตัวในบริเวณส่วนหัว 1 คู่ เส้นประสาทรอบคอหอย 1 คู่ และเส้นประสาทด้านท้องทอดตามความยาวของลำตัวอีก 1 คู่

• มีอวัยวะรับสัมผัส ประกอบด้วย ปุ่มรับรส กลุ่มเซลล์รับแสง

• เป็นสัตว์ที่มีสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน คือ ประกอบด้วย รังไข่และถุงอัณฑะ


ลักษณะภายนอกโดยทั่วไปของไส้เดือนดิน

ลักษณะภายนอกที่เด่นชัดของไส้เดือนดินคือการที่มีลำตัวเป็น ปล้องตั้งแต่ส่วนหัวจนถึงส่วนท้าย มีรูปร่างเป็นรูปทรงกระบอก มีความยาว ในแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เมื่อโตเต็มที่จะมีปล้องประมาณ 120 ปล้อง แต่ละปล้องจะมีเดือยเล็กๆ เรียงอยู่โดยรอบปล้อง ไม่มีส่วนหัวที่ชัดเจน ไม่มีตา มีไคลเทลลัม ซึ่งจะเห็นได้ชัด ในระยะสืบพันธุ์ และยังประกอบด้วยอวัยวะต่างๆที่สำคัญ ดังนี้

1.พรอสโตเมียม ( Prostomium) มีลักษณะเป็นพูเนื้อที่ยืดหดได้ติดอยู่กับผิวด้านบนของ ช่องปาก เป็นตำแหน่งหน้าสุดของไส้เดือนดิน ทำหน้าที่คล้ายริมฝีปาก ไม่ถือว่าเป็นปล้อง มีหน้าที่สำหรับกวาดอาหารเข้าปาก

2.เพอริสโตเมียม ( Peristomium ) ส่วน นี้นับเป็นปล้องแรกของไส้เดือนดิน มีลักษณะเป็นเนื้อบางๆ อยู่รอบช่องปากและยืดหดได้

3.ช่องปาก อยู่ในปล่องที่ 1-3 เป็นช่องทางเข้าออกของอาหารเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะมีต่อมน้ำลายอยู่ในเยื่อบุช่องปากด้วย

4.เดือนหรือขน ( Setae ) จะมีลักษณะ เป็นขนแข็งสั้น ซึ่งเป็นสารพวกไคติน ที่งอกออกมาบริเวณผนังชั้นนอก สามารถยืดหดหรือขยายได้ เดือนนี้มีหน้าที่ ในการช่วยเรื่องการยึดเกาะและเคลื่อนที่ของไส้เดือนดิน

5.ช่องเปิดกลางหลัง ( Dorsal pore ) เป็นช่องเปิดขนาดเล็กตั้งอยู่ในร่อง ระหว่างปล้อง บริเวณแนวกลางหลังสามารถพบช่องเปิดชนิดนี้ได้ในไส้เดือนดินเกือบทุกชนิด ยกเว้นไส้เดือนจำพวกที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือกึ่งน้ำ ในร่องระหว่างปล้องแรกๆ บริเวณส่วนหัวจะไม่ค่อยพบช่องเปิดด้านหลัง ช่องเปิดดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับช่องภายในลำตัวและของเหลวในช่องลำตัว มีหน้าที่ขับของเหลวหรือเมือกภายในลำตัวออกมาช่วยลำตัวภายนอกชุ่มชื่น ป้องกันการระคายเคือง ทำให้เคลื่อนไหวง่าย

6.รูขับถ่ายของเสีย ( Nephridiopore ) เป็นรูที่มีขนาดเล็กมาก สังเกตเห็นได้ยาก เป็นรูสำหรับขับของเสียออกจากร่างกาย เป็นรูเปิดภายนอก ซึ่งมีอยู่เกือบทุกปล้อง ยกเว้น 3-4 ปล้องแรก

7.ช่องสืบพันธุ์เพศผู้ ( Male pore ) เป็นช่องสำหรับปล่อยสเปิร์ม จะมีอยู่ 1 คู่ ตั้งอยู่บริเวณลำตัวด้านท้องหรือข้างท้อง ในแต่ละสายพันธุ์ช่องสืบพันธุ์อยู่ในปล้องที่ไม่เหมือนกัน มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายหลอดเล็กยาวเข้าไปภายใน

8.ช่องสืบพันธุ์เพศเมีย ( Female pore ) เป็นช่องสำหรับออกไข่ โดยทั่วไปมักตั้งอยู่ในปล้องถัดจากปล้องที่มีรังไข่ ( avary) มักจะพบเพียง 1 คู่ ตั้งอยู่ในร่องระหว่างปล้องหรือบนปล้อง ตำแหน่งที่ตั้งมักจะแตกต่างกันในไส้เดือนแต่ละพันธุ์

9.ช่องเปิดสเปิร์มมาทีกา ( Spermathecal porse ) เป็นช่องรับสเปิร์มจากไส้เดือนดินคู่ผสมอีกตัวหนึ่งขณะ มีการผสมพันธุ์แลกเปลี่ยนสเปิร์มซึ่งกันและกัน เมื่อรับสเปิร์มแล้วจะนำไปเก็บไว้ในถุงเก็บสเปิร์ม ( Seminal receptacle )

10.ปุ่มยึดสืบพันธุ์ ( Genital papilla ) เป็นอวัยวะที่ช่วยในการยึดเกาะขณะที่ไส้เดือนดิน จับคู่ผสมพันธุ์กัน

11.ไคลเทลลัม ( Clitellum) เป็นอวัยวะที่ใช้ในการสร้างไข่ขาวหุ้มไข่ และสร้างเมือกโคคูน ไคลเทลลัมจะพบในไส้เดือนดินที่โตเต็มไวพร้อมที่ผสมพันธุ์แล้วเท่านั้น โดยจะตั้งอยู่บริเวฯปล้องด้านหน้าใกล้กับส่วนหัว ครอบคลุมปล้องตั้งแต่ 2-5 ปล้อง

12.ทวารหนัก ( Anus ) เป็นรูเปิดที่ค่อน ข้างแคบเปิดออกในปล้องสุดท้าย ซึ่งใช้สำหรับขับกากอาหารที่ผ่านการย่อยและดูดซึมแล้วออกนอกลำตัว
อบรมเลี้ยงไส้เดือน

นี่คือ ข้อมูลและลักษณะของไส้เดือน  ภายนอกของไส้เดือน ที่หากเราสามารถจะสักเกตเรียนรู้ไว้ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่คิดว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยง เพื่อทำปุ๋ย หรือต้องการจะทำให้เป็นธุรกิจของครัวเรือนก็ได้


Source: บางส่วนจากหนังสือไส้เดือน ของ ดร.อานัฐ ตันโช

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "ข้อมูลและลักษณะของไส้เดือน - ภายนอก"

แสดงความคิดเห็น