การขายยางให้แก่พ่อค้าคนกลาง
ผลผลิตยางที่เราได้แล้วนั้น ส่วนมากแล้วก็จะรีบขายให้แก่ พ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำเป็นขี้ยาง เพราะยิ่งเอาไว้นาน ก็จะยิ่งน้ำหนักลด ผลก็คือ ได้เงินน้อยลงสิครับ อยากรู้ว่าเมื่อเก็บไว้แล้ว น้ำหนักยางลด ขนาดไหนคลิกที่ลิงค์ได้เลย ผมอุตส่าห์เก็บมันไว้ด้วยตั้งใจจะทำเป็นกรณีศึกษา (Case Study) เพราะเวลาถามคนอื่น ก็จะได้รับคำตอบแต่ว่า"น้ำหนักหายเยอะ" แต่ไม่สามารถอ้างอิงหรือเชื่อมโยงกันได้ว่า หายไปเท่าไร แล้วราคาที่ได้นั้น จะคุ้มกันหรือไม่?
การขายขี้ยาง หรือ ยางก้อน ให้แก่พ่อค้าคนกลางนั้น ทำใจยากอยู่หลายอย่างนะครับ ผมตอนที่มาทำอาชีพนี้ใหม่ๆ ก็ตั้งใจไว้ว่า จะนิ่งไว้ จะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเพราะเราต้องยอมรับมันให้ได้ แต่พอมาดูไปนานๆ แล้ว มันน่ารำคาญครับ สาเหตุก็เพราะว่า เขาเอาเปรียบเรามากเกินไป เช่น
-กดราคา
-อ้างราคาอ้างอิง (เราไม่ได้เช็คมาก่อน)
-ให้ราคาไม่ยุติธรรม
-โกงตาชั่ง
พ่อค้าเหล่านี้มักจะกดราคาเราทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น เห็นเปียกหน่อยก็ซื้อยางก้อนเราถูกลงไปอีก ๑ บาท ถ้าเราควักมาขาย คือ ถ้าเก็บตอนเช้าแล้วเอามาขายตอนเย็น (ผึ่งแดดได้ ๑ แดด) ราคาอาจจะลดลงไป ๒ บาทเลย ที่ผมมองว่าเป็นการกดราคา เพราะแม้ว่าของเราจะเปียกบ้าง แต่เราก็เอียงจอก ให้น้ำหยดออกแล้วตั้ง ๑ คืน แถมด้วยผึ่งแดดอีกหนึ่งแดด แถมยังใส่น้ำส้ม หรือ น้ำกรด โดยไม่ผสมน้ำ เนื้อแน่นดีมาก ก็ยังโดนกดราคาลง ให้เท่ากับขี้ยางที่มีน้ำอยู่เลย ฉะนั้น ใครรักที่จะขายให้ได้ราคา ก็ต้องตอแหลบ้างหล่ะนะ (แต่ผมยังไม่เคย ขี้เกียจพูด)
อ้างราคาอ้างอิง
ที่กล่าวมาในที่นี้ก็เนื่องจากว่า บ่อยครั้งเวลาเราถามราคา คนพวกนี้มักจะบอกว่า "ตอนนี้ราคาตกครับ เมื่อสองสามวันก่อนนี้ราคาสูงอยู่" หรือไม่ก็บอกเราว่า "ช่วงเสาร์อาทิตย์นี้ ราคาตกครับ ตอนช่วงกลางสัปดาห์นี้ราคาสูงกว่านี้สองสามบาท" ประมาณนี้แหละครับ อ้างราคาที่ไม่ตรงกับวันที่เราขายสักที เลยไม่ได้ขายราคาที่งามพอ แต่...เราก็จำเป็นต้องขาย เพราะว่าเราเองก็ต้องการเงิน เพราะ รายได้จากการขายยาง เป็นหัวใจหลักของคนทำสวนยาง ควักออกมาแล้วก็ต้องขายถูกแพงก็จำใจ
ให้หรือบอกราคาไม่ยุติธรรม
คำว่า ไม่ยุติธรรม ในที่นี้เป็นข้ออ้างที่งามมากสำหรับคนซื้อขี้ยาง ที่ผมนำมากล่าวในที่นี้ก็เนื่องจากว่า พ่อค้าคนกลาง คนที่พวกเราขายให้เป็นประจำนี่ เขาซื้อทั้งที่หมู่บ้านเดิมของผมและที่ที่ผมอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย ฉะนั้น เราจะถามราคาเพื่อเปรียบเทียบกันตลอด เช่น ที่ผมอยู่เขารับซื้อราคา ๓๕ บาทต่อกิโลกรัม แต่รับซื้อที่หมู่บ้านเดิมผมที่ ๓๖ - ๓๗ บาท อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งผมลองถามพ่อค้าอีกคนหนึ่ง เขาก็บอกว่าสาเหตุที่ราคาแตกต่างกันเกิดจากความคุ้มทุนและการเดินทาง หรือระยะทางนั่นแหละครับ คุ้มทุนคือไปแล้วซื้อได้เป็นจำนวนมากๆ ก็จะให้ในราคาแพงกว่า หรือ ระยะทางถ้าใกล้ก็จะได้ราคาแพง เป็นต้น ที่ผมอยากจะเอาไปขายให้แก่สหกรณ์ฯ ก็เพราะเหตุนี้แหละครับ น่ารำคาญ ซึ่งตอนนี้ผมก็ทำการทดลองการเก็บยางอยู่ ว่าจำนวนน้ำหนักที่ลดลงจะคุ้มกับราคารับซื้อที่แพงหรือไม่ ลองคลิกไปอ่านดูรายละเอียดตามลิงค์ข้างบนนั้นได้เลยนะครับ
การโกงตาชั่ง
อันนี้เกิดจากการที่มีคนหัวหมออยากจะลองดูพ่อค้า จึงทำการนำเอายางก้อนมาทำการชั่งก่อนที่จะขาย สำหรับพ่อค้ารายนี้ เขาจะ โกงตาชั่ง ครั้งละ ครึ่งกิโล นั่นก็คือ เขาจะกำหนดให้เราใส่ยางก้อนหรือขี้ยางแค่เพียงครั้งละไม่เกิน ๕๐ กก. เพราะยิ่งเรานำขึ้นตาชั่งบ่อย ก็จะยิ่งโดนโกงเพิ่ม เช่น ถ้าเอาขึ้นชั่ง ๑๐ ครั้ง ก็จะเท่ากับเราโดนโกงไปแล้ว ๕ กิโลกรัม ลองคิดเป็นเงินดูนะครับว่า ถ้า ๓๕ บาท/กก. ก็จะโดนโกงไปจำนวน ๑๗๕ บาท
นี่เป็นบางส่วนของการขายให้แก่ พ่อค้าคนกลาง ในส่วนของตลาดยางพารานะครับ ที่จริงมีอะไรอีกเยอะ แต่ก็ไม่อยากจะจุกจิกมาก เพราะส่วนตัวผมนั้น คิดมาตั้งแต่ต้นแล้วหล่ะ ว่าจะพยายามไม่อะไรมาก เพราะจะทำให้เราไม่สบายใจเสียมากกว่า อย่างการโดน โกงตาชั่ง นี่ผมก็เห็นว่า ไม่ถึงหนึ่งกิโลกรัมนี่ผมยอมรับได้นะ หยวนๆ กันไป แต่...เราในฐานะที่เป็นเจ้าของสินค้า เราก็ต้องการจะเพิ่มมูลค้าให้กับสินค้าของเราเหมือนกัน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
-รายได้จากการทำสวนยางพารา
-การขายยางให้สหกรณ์ฯ
ขอบคุณมากเลยที่นำความจริงาบอก และเป็นความจริงภาคปฏิบัติด้วย
ตอบลบอยากรู้เรื่องรายได้จากสวนยาง 10ไร่ 15 ไร่ เพราะ การคำนวณราคาไม่เหมือนกัน
.จะรอติดตามอ่านต่อไป