พืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้ : ดาหลา


พืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้ : ดาหลา


การที่จะหา พืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้ เช่น ดาหลา นั้นก็หาได้ยากนะครับ มีไม่กี่ชนิดที่สามารถปลูกและขึ้นได้ดี ใต้ร่มยาง ดังนั้น จึงเป็น พืชอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าของสวนยางได้ ในสภาวะที่ ยางราคาถูก อยู่นี้ เพราะขายได้ตลอดและราคาแพงด้วย

ปลูกพืชร่วมยาง ดาหลา สร้างรายได้ดี

ลักษณะเด่นของดาหลา 

ดาหลา ไม้ดอกที่ให้ความสวยงามด้วยดอกขนาดใหญ่คล้ายดอกบัว ชูช่อเด่นสง่าด้วยสีสันและกลีบดอกแข็งที่ซ้นทับสลับกันเป็นชั้นๆ ดูแปลกตา จะบานแย้มสะพรั่งทั่วทั้งสวนเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับความงามและกลิ่นอายของไม้ดอกแห่งเอเชียตะวันออกภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่นของสวนยางและเนื่องจากเป็นดอกไม้ดอกที่มีอายุการใช้งานได้ทนนาน 6-7 วัน จึงเป็นที่นิยมใช้เป็นตัดดอกหรือไม้จัดสวน สำหรับนำไปตกแต่งในแจกัน หรือตกแต่งตามสถานที่สำคัญๆ เช่น โรงแรม สวนอาหาร และสปา ดาหลา นอกจากปลูกในสวนยางแล้วยังนำไปปลูกตกแต่งในสวนหย่อม สวนอาหาร หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้

ทำไมจึงปลูกดาหลาในสวนยางพารา

นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การนำดาหลามาปลูกในสวนยางเนื่องจากดาหลาเป็นพืชหนึ่งในจำนวนอีกหลายพืช เช่น หน้าวัว ระกำ สละ กระวาน ผักเหลียง ต้นมันปู ฯลฯ ที่ปลูกร่วมยางได้และเป็นพืชที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของสวนยาง โดยมีการปลูกมานานแล้วในภาคใต้ของไทย เดิมได้มีการนำหน่ออ่อนใช้เป็นผักประกอบอาหาร แต่ปัจจุบันได้มีการนำมาปลูกเป็นไม้ตัดดอกมากขึ้น ด้วยธรรมชาติของดาหลาที่ชอบขึ้นในที่ร่มรำไร ชอบดินร่วนที่มีอินทรีย์วัตถุสูงจึงเหมาะที่จะปลูกในระหว่างแถวยางหลังจากปลูกยางไปแล้ว 5 ปี ดาหลาก็ได้อาศัยร่มเงาของยางพาราในการเจริญเติบโตและออกดอก แต่จะให้ผลผลิตได้ดีนั้นควรปลูกกับพันธุ์ยางที่ทยอยผลัดใบ เช่น พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 และพันธุ์ BPM 24

ถิ่นกำเนิดของดาหลา

เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา ดาหลาเป็นไม้ดอกที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของนักเล่นไม้ดอกไม้ประดับจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น มีชื่อไทย เรียกว่า กาหลา กะลา จินตรา ชื่อสามัญเรียกว่า Torch Ginger ชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Etlingera elatior ดาหลาเป็นพืชวงศ์เดียวกับขิง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีระบบรากฝอยแผ่ไปตามผิวดิน มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ลำต้นแท้เจริญอยู่ใต้ผิวดิน และมีลำต้นเทียมอยู่เหนือพื้นดิน ใบ เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว สีเขียวเข้ม มีขนาดใหญ่คล้ายหอก ใบเรียงสลับกันจะเห็นเส้นกลางใบเด่นชัด กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ดอก จะมีลักษณะเป็นดอกช่อ มีทั้งสีขาว สีชมพู และสีแดง ดอกเกิดกับลำต้นใต้ดิน ต้นหนึ่งจะมี 1-4 ดอก ดอกมีขนาดใหญ่คล้ายดอกบัว กลีบดอกแข็งซ้อนทับสลับหลายชั้น ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 12 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 30-100 เซนติเมตร หนึ่งช่อดอกจะมีผล 50-60 ผล ในหนึ่งผลจะมีเมล็ด 30-80 เมล็ด เมล็ดเมื่อสุกมีสีน้ำตาลดำ

วิธีการขยายพันธุ์ดาหลา

สำหรับการขยายพันธุ์ดาหลาทำได้ 2 วิธี คือ 
-วิธีแยกหน่อ และ
-วิธีเพาะเมล็ด 

การปลูกโดยวิธีแยกหน่อนั้น จะต้องแยกหน่อจากต้นที่ให้ดอกแล้ว  และมีลำต้นเทียม 2-3 ต้นติดมาด้วย พร้อมกับแต่งรากด้วยมีดคมนำลงถุงก่อนปลูกหรือนำไปปลูกในแปลงก็ได้ การปลูกด้วยวิธีแยกหน่อ นอกจากจะทำให้ออกดอกได้เร็วขึ้น แล้วยังให้สีดอกตรงตามต้นแม่พันธุ์ ส่วนการปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้งแล้วนำไปเพราะในกระบะทราย หรือ หรือขี้เถ้าแกลบ เมื่อเห็นต้นดาหลามีใบได้ 3-4 ใบ ให้นำลงชำถุงอีกครั้ง ดินที่ใช้เพาะควรใช้หน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ชำประมาณ 3 เดือน จึงนำลงปลูกในแปลงได้ การปลูกด้วยวิธีนี้ทำได้ง่ายและทำได้ทีละมากๆ แต่มีโอกาสกลายพันธุ์สูงและให้สีดอกแตกต่างกันไป

ฤดูที่เหมาะแก่การปลูกดาหลา

การปลูกดาหลา สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูฝน โดยใช้ต้นพันธุ์จากการแยกหน่อให้มีลำต้นเทียมและเหง้าติดอยู่ 2-3 ต้น ปลูกในระหว่างแถวยางได้ 3 แถว เมื่อใช้ระยะปลูก 2.5x8 เมตรส่วนระยะระหว่างต้นห่างกัน 4 เมตร และให้ห่างจากแถวยาง 2 เมตร ในพื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่ จะปลูกดาหลาได้ 150 ต้น โดยขุดหลุมให้มีขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหินฟอสเฟตจำนวน 100 กรัมต่อหลุมแล้วจึงนำหน่อลงปลูก ซึ่งวิธีการปลูกก็เหมือนกับการปลูกไม้ดอกโดยทั่วไป

การดูแลดาหลาในสวนยาง

การปฏิบัติดูแลรักษา สำหรับการปลูกดาหลานั้นถ้าเป็นดินร่วน ให้ใส่ปุ๋ยบำรุงสูตร 15-15-15 จำนวน 200 กรัมต่อกอ โดยใส่ปีละ 2 ครั้ง ดังนั้นในพื้นที่ 1 ไร่ จึงใส่ปุ๋ยบำรุงปีละ 60 กิโลกรัม คือช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ถ้าพื้นที่เป็นดินทรายนอกจากใส่ปุ๋ยรองต้นหลุมตามอัตราดังกล่าวแล้ว ควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพิ่มลงไปด้วยหลุมละ 200 กรัม ส่วนปุ๋ยบำรุงก็เช่นกันหลังจากใส่ปุ๋ยบำรุงตามสูตรและอัตราดังกล่าวแล้วให้เพิ่มปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกกอละ 200 กรัม เข้าไปด้วยโดยใส่ปีละ 4 ครั้ง ดังนั้นในพื้นที่ 1 ไร่ จะใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกปีละ 120 กิโลกรัม ซึ่งก็จะทำให้ได้ต้นและดอกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผลผลิตของดาหลา

การออกดอกและการให้ผลผลิต ถ้าปลูกด้วยวิธีแยกหน่อหลังจากปลูกได้ประมาณ 1 ปี ดาหลาจะออกดอกและจะออกดอกให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุ 4 ปี กอหนึ่งจะให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 40-50 ดอก ส่วนการปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ดแม้จะได้ต้นดาหลาในปริมาณมาก แต่ก็มีโอกาสกลายพันธุ์สูงและให้สีดอกแตกต่างกันไป ทั้งยังออกดอกช้ากว่าวิธีแยกหน่อ คือ ออกดอกในปีที่ 2 และเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 3 กอละ 15-20 ดอก แต่ก็จะให้ผลผลิตสูงขึ้นทุกปี ดาหลาจะออกดอกมากในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน

โรคและศัตรูของดาหลา

ดังนั้นการปลูกไม้ดอกอะไรก็ตามควรมีการดูแลรักษาโดยเฉพาะในเรื่องของโรคและแมลง เพื่อไม่ให้เกิดระบาดได้ แม้ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีโรคใดๆ เกิดขึ้นกับดาหลา แต่จะมีพวกหนอนม้วนใบและหนอนเจาะยอดซึ่งจะระบาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน โดยเฉพาะหนอนม้วนถ้าใบถ้าเกิดระบาดมาก จะทำให้ต้นดาหลาแคระแกรนได้ ส่วนหนอนเจาะยอดถ้าระบาดมากจะทำให้ยอดตายได้ จึงควรหมั่นดูแลหากพบว่าเกิดการระบาดของหนอนดังกล่าว วิธีป้องกันกำจัดก็คือ ใช้สารเคมีจำนวนคาร์โบฟูแรน ซึ่งมีขายในท้องตลาดและมีชื่อทางการค้า เช่น ฟูราดาน 3% ชนิดเม็ด, คูราแทร์ ฯลฯ หว่านบริเวณรอบๆ โคนต้นในช่วงที่มีการระบาดของหนอนม้วนใบและหนอนเจาะยอดก็จะช่วยลดการระบาดดังกล่าวลงได้

ตลาดและราคา ดาหลาที่รับซื้อ

ในแง่ของการตลาด ดอกดาหลาจะมีราคาสูงหรือต่ำต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น แหล่งปลูกและหน่อพันธุ์ ดอกดาหลาจะมีราคาตั้งแต่ 8-50 บาท ส่วนหน่อพันธุ์ก็เช่นเดียวกันจะอยู่ที่ราคาตั้งแต่ 50-300 บาท ถ้าเป็นแหล่งปลูกในจังหวัดภาคใต้ และเป็นพันธุ์ดอกสีชมพู จะขายในราคาดอกละ 8-10 บาท หน่อพันธุ์ละ 40-50 บาท ถ้าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวจะมีราคาสูงกว่านี้ ประมาณดอกละ 20 บาท หน่อพันธุ์ละ 40-60 บาท ส่วนพันธุ์ดอกสีขาว ค่อนข้างหายาก ดังนั้นจะมีราคาสูงถึงหน่อละ 150-300 บาท ส่วนดอกราคาดอกละ 40-50 บาท พันธุ์ดอกสีแดง ราคาหน่อละ 50 บาทขึ้นไป ดอกราคา 20 บาท ถ้าขายอยู่ในกรุงเทพทั้งหน่อพันธุ์และดอก ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโดยเฉพาะที่ปากคลองตลาดความต้องการมีปริมาณถึง 200-500 ดอกต่อสัปดาห์ ดอกที่ขายกันเป็นส่วนใหญ่เป็นดอกสีชมพูมีราคาตั้งแต่ 20-30 บาท หน่อพันธุ์ราคาหน่อละ 60 บาท สำหรับแหล่งผลิตที่สำคัญทั้งปลูกเป็นการค้าและปลูกในสวนยาง ได้แก่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี และ อ.เมือง จ.กระบี่ ถ้าขายเป็นต้นกล้าเพาะเมล็ดอายุ 3 เดือน ราคาเพียงต้นละ 15-20 บาทเท่านั้น ถ้าใครที่ชอบเล่นไม้ดอกประเภทนี้นอกจากปลูกในสวนยางแล้วจะปลูกเป็นการค้า หรือปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับไว้ในบริเวณบ้านนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวแล้วยังให้ความเพลิดเพลินได้อีกด้วย

มุมมองของการขยายพันธุ์ วิธีแยกหน่อยจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแต่ได้ปริมาณน้อย ขณะนี้ก็มีภาคเอกชนได้ทดลองใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นอกจากได้ปริมาณจำนวนมาก แล้วยังให้สีดอกตรงตามลักษณะต้นแม่พันธุ์และหากได้มีการพัฒนาคุณภาพ ของไม้ดอกประเภทนี้ให้ดอกและก้านดอกมีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเบาพร้อมกับพัฒนาพันธุ์ให้มีสีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นไม้ตัดดอกส่งออกได้อีกทางหนึ่งในอนาคต

ดังนั้น ในการปลูกดาหลาไม่ว่าจะปลูกเป็นการค้าหรือปลูกเป็นพืชร่วมยางพาราก็เป็นการให้รายได้กับผู้ปลูก หรือเกษตรกรเจ้าของสวนยางนอกจากการขายยางได้แล้ว ดาหลายังให้ประโยชน์อีกมากมายนอกเหนือจากที่เป็นไม้ตัดดอกเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของสวนยาง หน่อยังนำไปประกอบอาหารได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ดาหลายังเป็นพืชที่ช่วยรักษาความชื้นในดิน ทำให้ระบบนิเวศวิทยาในสวนยางดีขึ้นอีกด้วย

หากเกษตรกรท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิตภูเก็ต จ.ภูเก็ต โทร.076311997 หรือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร.02-5791576 ต่อ 181, 522 ได้ในเวลาราชการ

เห็นไม่ครับ พี่น้องชาวสวนยางพาราเรา 

พืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้ : ดาหลา อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่ว่าจะด้านการตลาด และการใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ก็ล้วนแต่มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น นี่จะทำให้เราสามารถเพิ่มรายได้ขึ้นมาอีกทางหนึ่ง คราวหน้าผมจะเอาเรื่องการปลูก ดอกหน้าวัว มาน้ำเสนอนะครับ คอยติดตามด้วย

ข้อมูล rubberthai.com

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "พืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้ : ดาหลา"

แสดงความคิดเห็น