สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสมาร์ทออฟฟิซเซอร์
เกษตรพอเพียง แบบเราก็ต้องรู้จักหาความรู้ใส่ตัวเหมือนกันนะ ช่วงนี้จะได้ยินเกี่ยวกับ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสมาร์ทออฟฟิซเซอร์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประจำทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. ทำให้เกิดความคิดว่า ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เหล่าเกษตรกรเราได้รับรู้อะไรเพิ่มมากขึ้นอีกมากมาย
ภาพชาวนา |
สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสมาร์ทออฟฟิซเซอร์ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ได้นำมาปรับให้เข้ากับแนวทางที่ตนได้ปฏิบัติอยู่ โดยทั่วไปแล้ว ก็นับเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่ง สำหรับทางด้านเกษตรกรรม เนื่องจากบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ นั้นจะต้องมีคุณสมบัติหลายประการด้วยกัน
ขอนำข่าวจาก นสพ. เดลินิวส์ มาให้อ่านด้วยกันนะครับ
เริ่ม
นโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง และสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) ถือเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกษตรกรไทยเป็นมืออาชีพและพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง จนสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558
นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯได้ทำโครงการ One ID Card for Smart farmer โดยนำข้อมูลเกษตรกรทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง ที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกราย เข้าไปไว้ในฐานข้อมูลบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ในซิมที่อยู่ในบัตรประชาชนก็จะมีข้อมูลว่าเกษตรกรรายนี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่ไหน เมื่อไหร่ มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนเท่าใด มีกิจกรรมทางการเกษตรอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งการนำข้อมูลเกษตรกรมาใส่ไว้ในบัตรประชาชนนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการขอรับบริการจากภาครัฐ เพียงแค่เกษตรกรนำบัตรประชาชนมาเสียบกับเครื่องอ่านบัตรก็จะสามารถแสดงฐานะการเป็นเกษตรกร และสามารถใช้สิทธิ์ที่เกษตรพึงได้รับจากภาครัฐได้
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำเว็บไซต์ www.ThaiSmartFarmer.net ขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้บริการจากภาครัฐแบบทางไกล โดยใช้ระบบไอทีหรือสมาร์ทโฟนเข้ามาช่วย ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้ามารับบริการและเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น ในระบบเบื้องต้นนี้จะมีเมนูของการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกร (E-check) ที่จะสามารถบอกข้อมูลพื้นฐานที่เกษตรกรได้แจ้งขึ้นทะเบียนไว้แล้ว สภาพปัญหาการผลิตของเกษตรกร สภาพพื้นที่ตั้งแปลงของเกษตรกร เป็นต้น เมนูการให้บริการของภาครัฐ (E-services) ซึ่งเกษตรกรสามารถมาขอรับบริการจากภาครัฐ เช่น การขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร การขอรับบริการฝนหลวง การขอรับการรับรองการผลิตตามมาตรฐาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในระบบยังมีข้อมูลของเกษตรกรที่เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบ และเจ้าหน้าที่ที่เป็นสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ จะมีข้อมูลที่ได้จากการถอดบทเรียนจากสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ข้อมูลความเชี่ยวชาญของสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ในแต่ละด้าน ที่จะให้เกษตรกรสามารถติดต่อขอคำปรึกษา แนะนำในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามที่ต้องการได้ ในขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนาฐานองค์ความรู้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ องค์ความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ มารวบรวมไว้ในระบบเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ เช่น กรณีปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ก็ได้นำองค์ความรู้ของพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหามาเก็บไว้เป็นแหล่งข้อมูลในระบบ เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้สนใจมาสืบค้นข้อมูลและนำไปใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองต่อไปได้
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 จะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานจากเกษตรกรตามโครงการสำมะโนการเกษตร จึงอยากขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการให้ข้อมูลการผลิตอันเป็นความจริง ปัญหาการผลิต และรายได้ เพื่อเตรียมตัวที่จะเข้าสู่การพัฒนาและปฏิรูปการเกษตรในปี 2556-2561 โดยจะมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรควบคู่กับการบริหารเกษตรกร บนพื้นฐานที่มีข้อมูลเกษตรกรที่ชัดเจน ตลอดจนมีข้อมูลพื้นที่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับตัวเกษตรกรและสินค้าที่ทำการผลิต
...คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสทำการผลิตให้เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของตัวเอง รวมถึงความต้องการของพื้นที่ และความต้องการของตลาด เพื่อให้เกิดการสมดุลระหว่างภาคการผลิตและภาคการตลาด เพราะหากมีการผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ และตามความเหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรแล้ว ก็จะสามารถช่วยให้สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพ และช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
จบ
จะเห็นได้ว่า บุคคลที่จะเป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์นั้น ต้องผ่านงานที่ตนทำมาและมีความชำนาญ จนสามารถจะนำองค์ความรู้ไปขยายต่อให้คนอื่นได้รู้และเข้าใจได้อีกด้วย
เมื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้แล้ว ส่วนตัวเราไม่ต้องไปคิดละครับ เพราะว่า ที่ดินก็น้อย รายได้ก็ไม่เท่าเขา เมื่อไม่สามารถเป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ได้เราก็มุ่งสู่การเป็น เกษตรกรมืออาชีพ (โปรเฟสชั่นนัลฟาร์มเมอร์_Professional Farmer) สิครับ
การเป็น เกษตรกรมืออาชีพ ไม่ต้องมีใครมาวัดอะไรละ เพราะเราตั้งใจทำของเราเอง และทำแบบ เกษตรพอเพียง ผมต้องการจะเขียนเรื่อง นี้มาก จึงขอเขียนไว้อีกโพสต์หนึ่งดีกว่านะครับ จะได้บอกกล่าวกันอย่างเปิดใจ สนใจให้คลิกที่ลิงค์นี้ เกษตรกรมืออาชีพ เพื่อไปสู่บทความเรื่องนี้
สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสมาร์ทออฟฟิซเซอร์ เป็นบุคคลที่เป็นตัวอย่างให้เราได้เข้าไปรู้วิถีเกษตรของเขา แล้วนำมาประยุกต์กับ การเกษตร ที่เราทำอยู่ ซึ่ง สมาร์ทออฟฟิซเซอร์ ซึ่งก็คือเหล่า เกษตรอำเภอ ต่างๆ ที่จะคอยให้คำแนะนำแก่เรานั่นแหละครับ เราจะรอดูผลสำเร็จของการขัขเคลื่อนครั้งนี้ต่อไป I am watching you นะจ๊ะ
ขอบคุณ นสพ.เดลินิวส์
ภาพจาก www.brighttv.co.th
0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสมาร์ทออฟฟิซเซอร์"
แสดงความคิดเห็น