เกษตรพอเพียง คนทำสวนยาง แก้เหงา

เกษตรพอเพียง คนทำสวนยาง แก้เหงา

ตอนนี้ก็ผ่านพ้น ปีใหม่ไทย หรือ สงกรานต์ มาแล้วนะครับ วันที่นั่งเขียนอยู่นี้เป็นวันที่ผมรู้สึกว่าเหงาๆ ชอบกล วิถีชีวิตชาวสวนยาง อย่างผมนี้ดูเหมือนจะสบายๆ แต่ความจริงก็ทุกข์ใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะ แต่ไม่ค่อยจะได้แสดงออกให้ใครฟังนัก (บ่นอีกละ)
ชาวสวนยาง กับการจัดการสวนยาง
ภาพใบยางพาราแห้ง

เช้าวันนี้ (16 เมษายน) คนภาคกลางนั้น เทศกาลสงกรานต์จบไปแล้ว แต่ทางภาคเหนือ วันนี้เป็น "วันปากปี" แน่นอนที่สุดที่มักจะทำกันก็คือ
-ตอนเช้า ก็จะทำการสืบชาตาหมู่บ้าน หรือไม่ก็ทำที่วัด
-อาหารเช้านี้ ก็ต้องเป็น "ขนุน" เพราะถือว่าจะได้มีสิ่งดีๆ มาหนุนนำให้ได้พบสิ่งดีๆ

สำหรับเกษตรกรอย่างผม สายมาหน่อยไม่รู้จะทำอะไรก็เดินสำรวจสวนละครับ สิ่งที่ทำก็คือ
-เก็บกิ่งไม้ยางแห้งที่ผมหักลงมาลงมา หลายวันละ (ยังเสร็จไม่ทั่วสวน)
-เก็บ รินน้ำยาง ซึ่งหลุดออกจากร่องน้ำยาง จะว่าไปก็เกือบๆ 10% ของทั้งหมด (ทำเกือบเสร็จ)

สองสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งนะครับ แต่หลายๆ คนเขาก็ไม่ทำ บอกว่า เดี๋ยวถึงเวลามันก็หักหล่นลงมาเอง ไม่ต้องเสียเวลา แต่สำหรับผมมี 2 เหตุผลที่ต้องทำ เพราะ 
1 หักลงมาแล้วมันก็จะได้ถูกย่อยสลายไวขึ้น จะได้เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้สวนเราไว้ขึ้น
2 กิ่งยางแห้ง จะได้ไม่หักตกใส่จอกยางตอนที่เรากรีดยาง ช่วงเปิดหน้ายางแล้ว เพราะตกใส่จอกยางทีน้ำยางกระจาย เสียดายมาก
อยากจะบอกอีกเหตุผลหนึ่งนะว่า เหงา ไม่รู้จะทำอะไร เลยไปทำอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่เหตุผลที่ดี เลยไม่จัดเป็นข้อที่สาม โปรดทราบ (อย่าเครียดๆ ยิ้มเข้าไว้ครับ)

การเก็บรินน้ำยาง คนทำยางคงจะรู้ว่าคืออะไร สำหรับคนที่ไม่รู้อยากจะบอกนิดหนึ่งว่า มันคือ ริน ที่เอาไว้รับและส่งน้ำยางให้ไหลลงไปที่จอกยาง ถ้าไม่เข้าใจก็ลองเสิร์ชหาดูครับ ในบล็อกของผมเลยเขียนเอาไว้ละ บางคนอาจจะบอกว่า จะเก็บทำไม เสียเวลา (อีกละ) ผมก็คิดนะว่า เราอยากทำเกษตรแบบพอเพียง เพราะจะฉะนั้น ต้องพยายามลดต้นทุนทุกอย่าง จะได้มีรายได้ที่จะได้เก็บไว้ให้มากขึ้น แม้ว่าจริงๆ แล้วราคาของรินน้ำยางนี้ไม่แพงหรอก อาจจะสิบละ สามบาทห้าบาทนี่แหละจำไม่ได้ เพราะฝากพี่เขาซื้อมาให้ตลอดอะครับ :)

ย้อนกลับไปเรื่องการเก็บกิ่งไม้ยางแห้ง อีกนิดหนึ่ง คือ ผมใช้ไม้เขี่ยนกิ่งเล็กกิ่งน้อยให้ไปกองรวมกันที่กลางร่องยางครับ เนื่องจากปีที่แล้วพอเริ่มกรีดยางได้สักพัก พอเข้าหน้าฝน ปรากฏว่างูออกมาเพ่นพ่านกันเยอะ เห็นทีไรก็สะดุ้งตกใจไปเป็นอาทิตย์ ขนาดว่าเวลาเราเหยีบกิ่งยางที่ตกพื้น พอมันกระดก หรือ มีเสียงเกิดขึ้น ก็ใจหายแว๊บ เลยนะครับ ฉะนั้น กันไว้ดีกว่าแก้ครับ

ส่วนใบยางแห้งที่หล่นอยู่ตามพื้น ตอนนี้ผมไม่กวาดแล้วครับ ช่วงต้นฤดูร้อน 100 วันอันตราย นั้น ต้องทำการกันแนวรอบสวน และกวาดภายในสวนยาง ทำให้มันเป็นล็อค/ส่วนๆ ไว้ เผื่อถ้ามีคนมาแกล้งเผาสวนเรา มันจะได้ไหม้ให้สมใจมันหน่อย แต่ก็ดับก่อนที่จะกระพือไปทั่วสวน นี่คือ แนวคิดของผมนะ แต่ก็โชคดีครับ ถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรร้ายๆ เกิดขึ้นแก่สวนยางของผม

เหตุที่ไม่กวาดมัน ก็เนื่องจากคิดว่า ส่วนหนึ่งปล่อยให้เป็นวัสดุคลุมดิน เพราะช่วงฤดูร้อนนี้อาการศร้อน ใบยางเพิ่งจะแตกงอก แสงแดดส่องทะลุถึงพื้นดิน มีใบยางไว้คลุมดิน ป้องกันทั้งดินโดนเผา และ การละเหยของน้ำในดิน อีกอย่างหนึ่งวันนี้ผมสังเกตุดูละครับ ฝนที่ตกแค่เพียงวันละเล็กละน้อย ปรากฏว่าใต้ใบยางที่คลุมดินนั้น มันยังชื้นอยู่ แสดงว่า แนวคิดผม ใช้ได้ดีทีเดียว ใครจะเอาอย่างก็ไม่ว่ากันนะครับ ของดีบอกต่อๆ

คุยชีวิตส่วนตัวให้ฟังหน่อยละกันครับ 
เช้าวันนี้ ตอนที่เก็บกิ่งยางกับเก็บรินน้ำยาง ก็มีลูกศิษย์คนสนิทโทรมาถามไถ่ เรื่องต่างๆทั่วๆไป (go go case) ตอนนี้เขาไปเป็นครู อปท. ที่ กรุงเทพฯ หนึ่งปีละ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ก็ดีใจนะที่เห็นลูกศิษย์เขาได้ดีกัน บังเอิญว่าเราเป็นคนเก็บอาการดี เลยไม่ได้แสดงหรือพูดอะไรให้เขารู้หรอกว่า ดีใจและยินดีกับลูกศิษย์แต่ละคนอย่างไร แต่ก็เอาเถอะแต่ละคนก็คงรู้กันเองเนาะ ตัวผมอายุ 44 ปีครับ ปีนี้ ลาออกมา เพราะอยากจะมีอิสระในชีวิตมากกว่าที่เป็นมา ก็มีความสุขดี 

ขอคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน ผมอยากนำเอาสิ่งที่ผมปฏิบัติอยู่คือการทำสวนยางมาบอกต่อ รวมไปถึงเรื่องดีๆ ที่วิเคราะห์แล้วดูเห็นว่ามีประโยชน์และใช้ได้จริง นั่นแหละครับเอามาเผยแพร่ต่อ เพื่อเกษตรกรเราจะได้อยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้คนอื่นมาดำเนินชีวิตตัวเอง บ่นอีกละ ช่วงนี้เป็นไงไม่รู้ วันนี้เจอกันแค่นี้ก่อนครับ สุขสันต์กับการทำงานนะครับ ตลอดปีตลอดไปครับ 

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "เกษตรพอเพียง คนทำสวนยาง แก้เหงา"

แสดงความคิดเห็น