แหล่งของปุ๋ยอินทรีย์

แหล่งของปุ๋ยอินทรีย์


วันนี้ เกษตรกรพอเพียง อยากจะเพิ่มเรื่องของ แหล่งของปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเป็น เกษตรกรสวนยางพารา โดยใช้วิถีแห่ง เกษตรพอเพียง หรือ เกษตรอินทรีย์ เพื่อจะได้นำมาใช้ในสวนยาง จะได้ประหยัดต้นทุน โดยไม่ต้องซื้อหาก็ได้ ขอเพียงการหาวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้ ลองดูนะครับว่า คุณมีอะไรที่จะช่วยในเรื่องนี้ได้บ้าง คือ

กองปุ๋ยหมัก การทำปุ๋ยหมัก

1. พืชคลุมดินตระกูลถั่ว พืชคลุมดินตระกูลถั่วชนิดเลื้อย เป็นแหล่งของอินทรียวัตถุที่สำคัญของยางพารา พื้นที่ระหว่างแถวยางหากไม่ปลูกพืชแซมยาง แนะนำให้ปลูกพืชคลุมดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ควบคุมวัชพืช ลดการใช้สารเคมีในสวนยางแล้ว พืชคลุมดินจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารโดยเฉพาะ ไนโตรเจน และเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน โดยการตรึงไนโตรเจนจากอากาศและการสลายตัวของเศษซากพืชคลุม พืชคลุมดินตระกูลถั่วชนิดเลื้อยที่แนะนำปลูกในสวนยาง มี 4 ชนิด คือ คาโลโปโกเนียม เซนโตรซีมา เพอราเรีย และซีรูเลียม พืชคลุมแต่ละชนิดมีสมบัติดีเด่นแตกต่างกัน ฉะนั้นเพื่อให้การปลูกพืชคลุมมีประสิทธิภาพจึงควรผสมเมล็ดพืชคลุมเข้าด้วยกัน เพื่อให้คลุมพื้นที่ได้รวดเร็วทนต่อสภาพร่มเงา และความแห้งแล้งและให้ปริมาณเศษซากพืชสลายตัวได้มาก 

ในช่วง 3 ปีหลังจากปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วผสม 3 ชนิด ได้แก่ เพอราเรีย คาโลโปโกเนียมและเซนโตรซีมา ในระหว่างแถวยาง เมื่อใบและเถาว์พืชคลุมดินสลายตัวแล้วจะให้ธาตุไนโตรแก่ดิน 36.7 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเท่ากับปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 174 กิโลกรัมต่อไร่ และในระยะเวลา 5 ปี จะสลายตัวให้อินทรียวัตถุและปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนลงดินถึง 56.5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือคิดเป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 269 กิโลกรัมต่อไร่

2. ปุ๋ยมูลสัตว์ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ มูลไก่ มูลเป็ด มูลสุกร มูลโค มูลกระบือ มูลค้างคาว ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์มีปริมาณธาตุอาหารต่ำ ในการนำมูลสัตว์ไปใช้กับพืชต่าง ๆ ไม่ควรใช้มูลสดกับพืชโดยตรง ควรผ่านการหมักก่อนนำไปใช้ มูลค้างคาวเป็นมูลที่มีธาตุอาหารสูงโดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสจึงเหมาะกับการใช้ในดินที่มีสภาพเป็นกรด นอกจากนี้ปุ๋ยคอกก็เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการนำเศษซากพืชต่าง ๆ ใส่ในคอกสัตว์เพื่อผสมกับมูลสัตว์ที่ปล่อยมาในคอก เป็นวิธีการทำปุ๋ยที่ง่ายกว่าปุ๋ยหมัก

3. ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการแปรสภาพของเศษซากพืชเป็นส่วนใหญ่ เกิดจากการย่อยสลายของเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด โดยทั่วไปปุ๋ยหมักจะมีธาตุอาหารต่ำ ไนโตรเจนระหว่าง 0.6-2.5 % ฟอสฟอรัส 0.5-1.9 % และโพแทสเซียม 0.6-1.8 % นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารรองและจุลธาตุในปริมาณที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัสดุอินทรีย์ที่นำมาทำปุ๋ยหมักและเทคนิคการผลิต

4. ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการไถกลบพืชขณะที่สดอยู่ในดิน อายุของพืชที่ควรไถกลบจะแตกต่างกันตามชนิดของพืช แต่ควรเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว และสะสมน้ำหนักแห้งได้สูง ให้ปริมาณธาตุไนโตรเจนสูง เมล็ดหาง่าย พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ถั่วลาย ถั่วพุ่ม ไมยราพไร้หนาม โสนอินเดีย โสนแอฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ และกระถิน การปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสดนั้นจะช่วยบำรุงดิน และเพิ่มไนโตรเจนได้มากกว่าการใช้พืชชนิดอื่น

5. ปุ๋ยชีวภาพ หมายถึง ปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อใส่ลงในดินแล้วทำให้พืชได้รับธาตุอาหารมากขึ้น ปุ๋ยชีวภาพที่แนะนำในปัจจุบัน ได้แก่ปุ๋ยชีวภาพที่มีเชื้อบักเตรี เช่น ไรโซเบียมมีแบคทีเรียที่สร้างปมที่รากถั่ว ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้ปุ๋ยไนโตรเจนแก่พืช เชื้อไมโคไรซ่า เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบพึ่งพากันและกัน ส่วนของเส้นใยที่พันกับรากจะชอนไชเข้าไปในดิน ช่วยดูดธาตุอาหารในดินโดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสให้เป็นประโยชน์แก่พืช

6. น้ำหมักชีวภาพ หมายถึง สารละลายเข้มข้นหรือของเหลวที่ได้จากการหมักพืช หรือสัตว์ในสภาพควบคุมอากาศ และถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์พวกยีสต์ แบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกรดแลคติก และเชื้อราต่าง ๆ ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทในการย่อยสลายสิ่งต่าง ๆ ภายในเซลล์พืชและสัตว์ ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารหรือเอนไซม์ปริมาณน้อย โดยทั่วไปน้ำหมักชีวภาพมีปริมาณธาตุอาหารต่ำ น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากพืช น้ำหมักชีวภาพที่มีความเข้มข้นของสารละลายสูงก่อนนำไปฉีดพ่นกับพืชต้องผสมน้ำทำให้เจือจาง

จะเห็นได้นะครับว่า แหล่งของปุ๋ยอินทรีย์ นั้นไม่ใช่อะไรที่ยากเลย เราสามารถที่จะทำได้ด้วยตนเอง ด้วยการอาศัยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เราไม่ต้องเผาทิ้ง โยนทิ้ง โดยไม่ได้คิดถึงประโยชน์อันมหาศาลของมัน แต่เราสามารถนำมาทำ ปุ๋ย ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องไปซื้อหาให้เปลืองเงินเปลืองทอง เพราะเราต้องการ ประหยัดต้นทุน ไปในตัวด้วย เพราะจะได้มีเงินเหลือบ้าง 

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "แหล่งของปุ๋ยอินทรีย์"

แสดงความคิดเห็น