เกษตรอินทรีย์ : เพิ่มผลผลิตให้สวนยางพารา
เมื่อพูดถึงเรื่อง เกษตรอินทรีย์ ในปัจจุบันเราต่างก็ได้ยินกันอยู่เสมอ โดยเชื่อกันว่ามันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ดินดี มีสภาพที่สมบูรณ์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอื่น ที่สำคัญในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราก็สามารถทำได้เพื่อ เพิ่มผลผลิตให้สวนยางพารา ให้ได้ปริมาณที่เยอะขึ้น
การเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง |
เกษตรอินทรีย์ คืออะไร
จากหัวข้อย่อยตรงนี้เราสามารถแยกได้เป็นสองคำคือ
-เกษตร ตามศัพท์ก็แปลว่า นา แต่สำหรับคนไทยเรานำมาใช้กันจนเข้าใจเป็นสามัญแล้วว่า การทำการเกษตรทุกประเภท เช่น ทำนา ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ เป็นต้น
-อินทรีย์ แปลว่า สิ่งมีชีวิต
โดยรวมของคำว่า เกษตรอินทรีย์ จึงหมายเอาว่าเป็นการทำการเกษตรที่เน้นการใช้จุลินทรีย์หรือสารอินทรีย์ต่างๆ ในการเป็นส่วนประกอบช่วยในการฟื้นฟูดินและสภาพของพืช ผัก ผลไม้
อ่านแล้วไม่ต้องงงครับ ที่จริงเรารู้จักกันหมดละ แต่ว่า เราเรียกแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอก ก็ได้เช่น ปุ๋ยหมัก ขี้วัว ขี้ไก่ แกลบ เป็นต้น ซึ่งต่อมามีการแต่งเติมเพิ่มอัตราส่วนโน่นนั่นนี่เข้าไป ก็เรียกกันอีกคำหนึ่งว่า ปุ๋ยชีวภาพ และ ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะมีการเพิ่มเติมเชื้อจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ถ้าจะพูดให้ง่ายที่สุดก็คือ ปุ๋ยอย่างอื่นที่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี นั่นแหละครับ
เกษตรอินทรีย์ เพิ่มผลผลิตให้สวนยางพารา ได้จริงหรือ?
จริงๆ แล้วเมื่อเราทำอาชีพใด ก็ย่อมจะต้องการให้ได้ขายในราคาที่แพงขึ้น หรือ ได้รับผลกำไรได้มากเท่าที่จะมากได้โดยประการทั้งปวง แต่ถ้าความเข้าใจในการใช้สารเคมี หรือ สารทดแทนอื่นได้ โดย "ความไม่เข้าใจ" นี่จะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนที่ลงไปสูญเสียไปแบบเปล่าๆ ได้ง่ายๆ เช่นกัน
จะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องของการ พ่นยาฆ่าหญ้า หลายคนอาจจะคิดว่า จะทำเมื่อไรดี หรือ ว่าทำตอนไหนก็ได้ หรือ คาดเดาเอาเอง เป็นต้น ความจริงแล้ว การใช้ยาฆ่าหญ้า มีสิ่งที่ต้องคำนึง ดังนี้
1 ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้แสดงไว้เป็นเอกสารกำกับหรือแนะนำที่ติดอยู่
2 ใช้ในปริมาณที่กำหนด
3 ฉีดพ่น ในช่วงที่มีอากาศโปร่ง (ไม่ควรมีลมแรง)
4 มีการป้องกันตนอย่างดี คือ ใส่หน้ากาก ถุงมือ รองเท้าบู้ท
5 เมื่อเสร็จก็ล้างมือล้างหน้าให้สะอาด ถ้าเป็นไปได้อย่าเพิ่งกินอะไรจนกว่าจะแน่ใจว่า ตนเองสะอาดแล้วจริงๆ
เมื่อผมได้กล่าวถึงว่าการจะใช้วิธีการทำสวนยางแบบเกษตรอินทรีย์ จะทำให้เราได้ผลผลิตดีจริงหรือนั้น สามารถพูดได้เลยว่า ดีจริง แต่...เราอย่าปฏิเสธปุ๋ยเคมี N P K (ในสูตรที่เหมาะกับสภาพสวนยางของตนเอง) เหตุที่พูดเช่นนี้ก็เพราะว่า การที่เรานำเอาปุ๋ยอินทรีย์มาใส่นั้น โดยรวมแล้วไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของสวนยางได้อย่างเต็มร้อย เพราะ อย่างที่ทราบกันธาตุหรือสารอาหารในสิ่งเหล่านั้นมีเป็นจำนวนที่น้อยกว่า ปุ๋ยเคมีหลักอย่างมาก เราจึงควรใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อเป็นการลดต้นทุนของเราลงไปเพราะเราจะลดปุ๋ยเคมีลงไป โดยใช้ในอัตราต้นละ 2-3 กก. จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการทำให้เรารู้ว่า มันทำให้ต้นยางกรีดได้นานกว่าปกติประมาณ 1-2 เดือน
ตัวอย่างวัสดุบางอย่างที่เรานำมากทำเป็นปุ๋ย กับ ค่าเฉลี่ยปริมาณธาตุไนโตรเจนที่มีอยู่ในวัสดุชนิดต่างๆ
มูลเป็ด - ไก่ 3.5-5.0
มูลสุกร 3.0
ต้นถั่วต่างๆ 2.0-3.0
มูลวัว - ควาย 1.2-2.0
เปลือกถั่วลิสง 1.6-1.8
ต้นข้าวโพด 0.7-1.0
ใบไม้แห้ง 0.4-1.5
แกลบ 0.3-0.5
กากอ้อย 0.3-0.4
ขี้เลื้อยเก่า 0.2
ขี้เลื้อยใหม่ 0.1
เศษกระดาษ แทบไม่มี
เราจะเห็นว่า ปริมาณมีน้อยมาก เมื่อเราเทียบกับ สูตรปุ๋ยเคมีที่ใช้กับสวนยางเช่น 20-8-20, 29-8-18 เป็นต้น ดังนั้น หากต้องการให้ได้ปริมาณที่เท่ากับ ปุ๋ยเคมี เราต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพในปริมาณที่เยอะมาก
ปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยชีวภาพ มีข้อดีอย่างไร
ข้อดีของ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยชีวภาพ มีมากมายอย่างที่เราพูดกันเสมอว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมันทำมาจากวัสดุที่เป็นธรรมชาตินั่นเอง แต่ถ้าจะกล่าวถึงประโยชน์หลักๆ ของกล่าวถึง 2 ประเภท
1 ช่วยปรับสภาพและฟื้นฟูสภาพดิน เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานาน ทำให้ดินเค็ม ดินแน่น พอเราใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพ จะทำให้สภาพดินเรากลับคือมาอยู่ในระดับกลางซึ่งเหมาะสำหรับสวนยางในการที่จะนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงและสร้างน้ำยางในกับต้นยางแต่ละต้น
2 ช่วยทำให้สภาพดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจาก ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพ ที่เราได้จากวัสดุทำชาติ แล้วยังมีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จำนวนมากด้วย จึงไปช่วย ปลดหรือคลายโครงสร้างดิน และช่วยในการดึงเอาธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงต้นยางพารา ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
ถ้าจะพูดให้เป็นการแยกย่อย คุณสมบัติ ดีๆ ของ ปุ๋ยอินทรีย์ กันมากยิ่งขึ้น ละเอียดมากขึ้น ก็จะมีดังนี้คือ
1. รักษาสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของดินให้ดีอยู่เสมอ ทำให้ดินมีสภาพเหมาะแก่การเจริญของราก ทำให้รากพืชชอนไชได้ไกลและลึกกว่าเดิม สามารถหาอาหารได้ดียิ่งขึ้น มีการกระจายของรากหนาแน่นจึงมีประสิทธิภาพในการดูดธาตุอาหารและน้ำสูง
2. เพิ่มธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ และจุลธาตุได้แก่ เหล็ก ทองแดง สังกะสี และแมงกานีส โดยทำให้ธาตุเหล่านี้อยู่ในรูปคีเลต ที่พืชใช้ได้ง่าย
3. เพิ่มธาตุอาหารหลักไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม แต่ปริมาณของแต่ละธาตุจะมีน้อยไม่เพียงพอสำหรับพืช
4. การมีอินทรียวัตถุในดินเพียงพอจะช่วยเพิ่มประชากรจุลินทรีย์และส่งเสริมกิจกรรมของจุลินทรีย์ทำให้ปลดปล่อยธาตุอาหารต่าง ๆในดินสูงขึ้น
แหล่งที่จะให้ปุ๋ยชีวภาพ หรือ แหล่งของปุ๋ยอินทรีย์ คลิก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ต้นยางพารา สามารถดูดซึมเอาแร่ธาตุหรือสารอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างดี อันจะนำมาซึ่งการได้ผลผลิตคือ น้ำยาง ในปริมาณที่มากขึ้น และ อัตราในการไหลที่นานขึ้นด้วย เป็นสิ่งที่เราชาวเกษตรสวนยางพารา ควรใส่ใจ แต่ก็มีข้อที่ควรคิดอยู่อย่างหนึ่งนะครับคือ พยายามทำด้วยต้นเอง โดยการหัดทำปุ๋ย และหมักปุ๋ย ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เราสามารถประหยัดต้นทุนไปอีกเยอะเลยทีเดียว เพราะ"การประหยัดต้นทุนเท่ากับได้เงินเพิ่ม" นั่นเอง เชื่อผม
เรื่องแทรก
ตอนแรกผมได้จบการเขียนไปแล้ว พอถึงวรรคสรุป ก็อดไม่ได้ที่จะเขียนอะไรบางอย่าง เลยต้องเอามาเขียนแทรกไว้ก่อนวรรคสรุป (อิอิ) หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับวิธีนี้เนอะ แต่อยากทำความเข้าใจอ่ะครับ กล่าวคือ การปรับสภาพดิน ต้องดูก่อนว่าดินในสวนของเราเป็นอย่างไร เป็นกรด หรือ เป็นด่าง ฉะนั้น การปรับสภาพดิน ถ้าเรารู้ตรงนี้ก็สามารถใช้วัสดุธรรมดาราคาถูกมาใช้ ต้องต้องเสียค่าปุ๋ยกระสอบละเกือบ 400 บาท ต่อไร่ เช่น ใช้ปูนขาว ในการปรับสภาพ ก็ใช้ได้แล้ว ไม่เปลืองครับ ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนครับแทรกมากเดี๋ยวยิ่งงง
เรื่องของ เกษตรอินทรีย์ เพื่อการ เพิ่มผลผลิตให้สวนยางพารา ยังมีอีกเยอะครับ เดี๋ยวผมจะทยอยนำมาเสนอให้พี่น้อยเกษตรกรเราได้รับรู้ ซึ่งแน่นอนครับ สิ่งที่ผมจะนำมาพูดนั้น คนทำปุ๋ยขาย หรือ บริษัทต่างๆ คงไม่ชอบแน่ๆ เนื่องจากเราจะเอาความจริงและความรู้มาพูดกัน ไม่ได้พูดขายของ (เหมือนพวกเขา)
เกษตนอินทรีย์ สามสรถทำให้รวยได้ ยืนยัน
ตอบลบ