เล่ห์พ่อค้ายางพารา

เล่ห์พ่อค้ายางพารา


พอดีวันนี้พี่เขยโทรมาบอกเรื่องขายยาง ทำให้คิดถึงเรื่องของ เล่ห์พ่อค้ายางพารา ที่เป็นพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีอยู่โดยทั่วไป แต่ที่ผมจะพูดถึงนี้ก็จะขีด วงเอาแต่คนที่ผม ขายยาง ให้เท่านั้นไม่ได้หมายถึงทุกคนทุกที่นะครับ และคำว่า พ่อค้า หมายถึง ผู้รับซื้อยางพาราทั้งที่เป็นเพศชายและเพศหญิง ดัวยนะครับ
พ่อค้ายางขี้โกง
ภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
เป็นภาพ การขายยางที่ สหกรณ์ยางพารา อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ทำไมถึงพูดว่าเล่ห์พ่อค้ายางพารา

ผมว่าจริงๆ แล้วเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วจะเสียเปรียบเสียรู้ให้พ่อค้าแทบทั้งสิ้น (แม้บางครั้งเกษตรกรจะนึกว่าตัวเองได้เปรียบก็ตาม) เหตุที่เขียนถึงเรื่องนี้เพราะตอนนี้ กลุ่มขายยางพารา ที่ผมไปขายร่วมกับเขาได้แตกกระจายกันไปหลายกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว สาเหตุของมันก็มีหลายประการดังนี้  

1. พ่อค้า "โยนราคา" แข่งกัน

พ่อค้าส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ หากรู้ว่าอีกคนหนึ่งจะซื้อยางพาราราคาเท่าไร ก็จะเพิ่มขึ้นอีก 50 สตางค์ หรือ 1 บาท เพื่อดึงผู้ขายไปขายกับตน แต่ไม่ได้หมายถึงทุกครั้งนะครับ จะเป็นเฉพาะวันนั้นๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่น บางคนตอนชาวสวนถามราคา บอกว่าซื้อยางได้ในราคา 21 บาท ชาวสวนเลยโทรไปถามอีกคนเขารับซื้อที่ 22 แล้วพอโทรไปถามคนที่ตัวเองสนิทและรู้ว่าเขาจะขายให้คนอื่นที่ราคา 22 บาท ก็รีบบอกว่า จะซื้อในราคา 23 บาท แต่บังเอิญชาวบ้านเขาไม่กลับลำแล้วเพราะได้ตัดสินใจขายให้คนที่ให้ราค 22 บาทไปแล้ว โยนราคา หมายถึง การให้ราคามากขึ้นเพื่อเกทับ กัน

2. ใช้เล่ห์ในการแยกกลุ่ม แบบที่ 1

แหม พูดซะหรูเลยว่า ใช้เล่ห์ในการแยกกลุ่ม แบบที่ 1 (อิอิ) ตัวอย่างคือ พ่อค้าคนหนึ่งไปซื้ออีกกลุ่มหนึ่งบ่อยๆ ก็เลยชี้แนะว่าให้เก็บเงินจากการขายแต่ละครั้งเพื่อเป็นสวัสดิการของกลุ่มสิ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ ดูเหมือนสหกรณ์เลย พอชาวสวนเก็บเงินกัน ก็ถอนตัวออกมาไม่ได้เพราะกลัวไม่ได้เงินที่เก็บกันนั้น

3. ใช้เล่ห์ในการแยกกลุ่ม แบบที่ 2

ใช้เล่ห์ในการแยกกลุ่ม แบบที่ 2 นี้แทบจะทุกคนที่นำมาใช้คือ "ลูกค้าเก่า" "ขาประจำ" "เฉพาะกลุ่มเราเท่านั้นนะ" แล้วเรียกคนอื่นว่า "คนอื่น" "คนนอก" คำเหล่านี้หลอกบรรดาเกษตรกรสวนยางได้ดีนักแล

4. มองหาแต่ยางอ่อน

กรณีนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะตกลงซื้อขายกัน เขามักจะเลือกดูยางก้อนที่ดูแล้วน่าจะนิ่ม ไม่แข็ง มักจะกดดันให้เราต้องซื้อวัสดุจากเขา เช่น น้ำส้ม เพราะเขาจะถามว่า ใส่น้ำส้มไหม? ผสมน้ำไหม? เขามักจะกดดันประมาณนี้ เพื่อให้เราซื้อน้ำส้มหรือน้ำกรดจากเขานั่นเอง

การซื้อขายยาง คนที่ทำมานานเขาก็มีลูกล่อลูกชนกันเยอะครับ ไม่งั้นไม่ทันพ่อค้า แต่สำหรับผมแล้วถือว่าหยวนๆ กันไป ถ้าไม่ถูกใจก็ต้องบายก่อนละพ่อค้า ผมจึงมองเห็นประโยชน์ของการรวมตัวกันของชาวสวนยาง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ สหกรณ์ หรือ กลุ่มผู้ขายที่รวมตัวกันเอง เป็นประโยชน์ด้านการต่อรองราคาเป็นอย่างมากเลยครับ 

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "เล่ห์พ่อค้ายางพารา"

แสดงความคิดเห็น