การเลี้ยงกบ3: ที่มาของกบและการดูแล

แหล่งที่มาของลูกกบ
การเลี้ยงกบในปัจจุบัน ลูกกบที่นำมาเลี้ยงได้มาจาก 2 แหล่ง คือ
1. ลูกกบจากธรรมชาติ 
เป็นการรวบรวมกบที่มีอยู่ในธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อ จนกระทั่งได้ขนาดก็จับขาย สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
1.1 การรวบรวมลูกอ๊อดและการอนุบาล ทำการรวบรวมไข่กบที่ผสมแล้ว จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเพาะฟักและอนุบาลในบ่อที่เตรียมไว้ หรืออาจช้อนลูกอ๊อดของกบที่พบเห็น อยู่ตามธรรมชาติมาเลี้ยง หรือโดยการจับพ่อแม่พันธุ์กบ ในช่วงต้นฤดูฝนมาเลี้ยงในบ่อเพื่อ ให้ผสมพันธุ์กันและออกไข่ในบ่อเลี้ยง เป็นต้น
อุปสรรคสำคัญของการจับลูกอ๊อดมาเลี้ยงก็คือ มักจะมีลูกอ๊อดของเขียด หรือคางคกปะปนมาด้วยผู้จับจึงต้องมีความรู้และความชำนาญในการเลือก ข้อสังเกตง่าย ๆ คือ หัวลูกอ๊อดเขียดจะแหลมกว่าหัวลูกอ๊อดกบ ขนาดตัวก็เล็กกว่ารวมทั้งลายที่หลังและเส้นขาวที่พาด ตามลำตัวก็ไม่เหมือนกัน สีที่ด้านหลังและส่วนท้องก็แตกต่างกัน 

การรวบรวมลูกกบจากธรรมชาติเพื่อนำมาเลี้ยงมีหลายวิธีเช่น 
1.1.1 การจับด้วยมือเปล่าโดยใช้ไฟฉายหรือตะเกียงส่องแล้วใช้มือตะปบ จับใส่ถุงผ้าที่สะพายติดตัวไป 
1.1.2 การจับด้วยแห จะใช้แหที่มีตาถี่ ทอดเหวี่ยงโดยวิธีเดียวกับการจับปลา 
1.1.3 การจับด้วยการขุดหลุมดัก ทำหลุมลึกประมาณ 1 เมตรในบริเวณ ที่มีลูกกบชุกชุม ก้นหลุมวางอาหารผสมหรืออาหารหมักล่อไว์ในตอนเย็น ปากหลุมราดน้ำให้ เปียกชุ่มปรับให้เรียบและลื่นเป็นมัน ลูกกบจะมากินอาหารในตอนกลางคืนแล้วไม่สามารถขึ้น จากหลุมได้ ในตอนเช้าจึงมารวบรวมลูกกบ อย่าปล่อยทิ้งไว้ข้ามวันลูกกบจะมีโอกาสตายได้มาก 
1.1.4การจับด้วยเครื่องมือดัก คล้ายไชดักปลา ด้านหน้ามีทางเข้าทางเดียว ด้านท้ายมีประตูเปิดปิดได้ เมื้อลูกกบเข้าแล้วจะออกไม่ได้ เมื่อต้องการจะใช้งานนำเครื่องมือนี้ให้ฝังดินให้พื้นล่างเสมอกับผิวดิน ปิดด้วยหญ้า ราดน้ำพอชุ่ม ด้านหน้าปรับผิวดินให้ลื่น ภายใน เครื่องมือดักใส่อาหารล่อ ลูกกบจะเข้าไปกินอาหารในตอนกลางคืน ตอนเช้าจึงรวบรวมลูกกบที่ได้ 
1.2การเลี้ยงลูกกบ ภายหลังจากลูกอ๊อดเจริญกลายเป็นกบแล้ว จะดำเนินการ อนุบาลจนกระทั่งเติบโตได้ขนาดจึงปล่อยลงบ่อเลี้ยง ลูกกบที่ปล่อยลงบ่อเลี้ยงนี้นิยมลูกกบ ที่มีขนาด 3-5 เชนติเมตรขึ้นไป หรือถ้ารวบรวมจากธรรมชาติก็ต้องมีขนาดที่ทราบแน่นอนแล้วว่าเป็นลูกกบ 
2.ลูกกบจากโรงเพาะฟัก เป็นวิธีการเลี้ยงที่ดีที่สุด เพราะจะได้ผลผลิตมากและแน่นอน นอกจากนี้ต้นทุนยังต่ำ สามารถลดปัญหาการบอบช้ำจากการลำเลียงลูกกบจากธรรมชาติได้อีกด้วย วิธีนี้ลูกกบจะได้มา โดยการนำเอาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดีมาผสมกันในบ่อผสมพันธุ์ แลัวนำไข่ที่ได้มาฟักใน บ่อเพาะฟักเพื่อให้ได้ลูกกบ แล้วจึงนำไปอนุบาลต่อในภายหลัง 

การเลือกสถานที่เลี้ยงกบ
ถึงแม้ว่าเราจะสามารถเลี้ยงกบได้ในแทบทุนสถานที่ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรเลือกสถานที่ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ควรอยู่ใกล้บ้านที่พักอาศัย เพื่อความสะดวกในการดูแล และลดปัญหาการลักขโมย
2.ควรอยู่บนพื้นที่ดอนสูงพอที่จะป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะทำให้กบหลบหนีออกจากบ่อเลี้ยงได้
3.ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาดและมีปริมาณมากเพียงพอ เนื่องจากต้องมีการถ่ายน้ำบ่อเลี้ยงกบบ่อยๆ
4.ควรอยู่ที่ที่มีความสงบเงียบพอสมควร ถ้ามีเสียงดังมากจะทำให้กบตกใจกลัว ไม่ยอมออกจากที่หลบซ่อนเพื่อออกมากินอาหาร อาจทำให้อดอาหารตายได้
5.ในกรณีที่ไม่ได้เพาะพันธุ์ลูกกบเลี้ยงเอง ควรอยู่ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์ลูกกบจำหน่าย เพื่อความสะดวกในการจัดหาลูกกบมาเลี้ยง
6.ควรอยู่ใกล้แหล่งที่สามารถหาอาหารเลี้ยงกบได้ง่าย หรือมีสถานที่จำหน่ายอาหารเลี้ยงกบ
7.ควรอยู่สถานที่ที่มีกบในธรรมชาติเหลืออยู่ไม่มากและอยู่ใกล้ชุมชนที่นิยมบริโภคกบโดยไม่เลือกว่าเป็นกบธรรมชาติหรือกบเลี้ยง เพราะโดยธรรมชาติของคนไทยจะนิยมเลือกบริโภคที่มาจากธรรมชาติมากกว่าถ้าเลือกได้
8.ควรอยู่ในสถานที่ที่ประชาชนมีอัธยาศัยไมตรีดี ไม่มีการลักเล็กขโมยน้อย ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ ซึ่งจะเป็นปัญหาบั่นทอนจิตใจของผู้เลี้ยงทำให้เกิดความท้อแท้ได้

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "การเลี้ยงกบ3: ที่มาของกบและการดูแล"

แสดงความคิดเห็น