การเลี้ยงกบ2: ทำไมกบจึงเป็นสัตว์ที่น่าเลี้ยง

รูปแบบการเลี้ยงกบ
1.การเลี้ยงกบแบบไม่ครบวงจร เป็นการเลี้ยงกบโดยการนำลูกกบที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์ (มีขาครบสี่ขาแล้ว) อายุเริ่มจากวันฟักออกจากไข่ประมาณ 1 เดือน ที่ได้จากธรรมชาติหรือจากฟาร์มเลี้ยงกบมาปล่อยลงบ่อเลี้ยง แล้วจัดการเลี้ยงดูไปประมาณ 4-6 เดือนก่อนจะจับขาย รูปแบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นเลี้ยงหรือเลี้ยงปริมาณเล็กน้อย เพราะไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก คืนทุนเร็ว และไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์มากนัก เป็นการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก่อนที่จะลงทุนในรูปแบบครบวงจรต่อไป

2.การเลี้ยงกบแบบครบวงจร เป็นการเพาะพันธุ์กบเลี้ยงเอง โดยการจัดการเลี้ยงดูพ่อแม่พันธุ์ นำมาผสมพันธุ์เพื่อเพาะลูกกบ แล้วนำลูกกบมาเลี้ยงดูเองจนกระทั่งจับขาย เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ใช้ทุนสูงขึ้น ใช้ความชำนาญมากขึ้น เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ผ่านการเลี้ยงในรูปแบบแรกมาแล้ว และมีความมั่นใจว่าจะเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องมีการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น หากทำไม่นานแล้วเลิก ก็ไม่คุ้มกับการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้าง
กบที่พบในประเทศไทยนั้นมีถึง 34 ชนิด และในต่างประเทศอีกหลายชนิด ซึ่งรวมแล้วไม่น้อยกว่า 100 ชนิด กบบางชนิดมีขนาดที่ใหญ่มาก บางชนิดมีขนาดปานกลาง และบางชนิดก็มีขนาดเล็ก แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ สำหรับผู้ที่สนใจควรเสาะหาพันธุ์เพี่อนำมาเลี้ยงกันหลาย ๆ ชนิด พันธุ์กบที่จะแนะนำต่อไปนี้สามารถเลี้ยงได้ในเมืองไทย ซึ่งมีทั้ง กบพันธุ์พื้นเมือง และกบจากต่างประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศในบ้านเรา ดังต่อไปนี้ 

1.กบจาน ( Rana tigerina Daudin)
เป็นกบขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ ตัวที่โตเต็มที่ยาวประมาณ 5 นิ้ว ขนาด ประมาณ 4 ตัวต่อกิโลกรัม ผิวมีสีน้ำตาลปนเขียว อาจจะแตกต่างกันบ้างตามแหล่งที่ อยู่อาศัย ลักษณะโดยทั่วๆ ไปสังเกตได้คือ ขาหน้าสั้นอยู่ระหว่างไหล่กับตา ปุ่มกระดูกเท้าล่างไม่แหลมคม มีสีคล้ำและมีลายพาดสีจาง ๆ ตรงริมฝีปาก ใต้คางอาจมีจุดหรือลายริ้วตรงคอหอย ด้านหลังมีสีเขียวอมน้ำตาล มีจุดสีดำเป็นจำนวนมาก 

2.กบนา (Rana rugulosa Wiegmann) 
เป็นกบขนาดกลางตัวที่โตเต็มที่ยาวประมาณ 5 นิ้ว ขนาดประมาณ 6 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ผิวสีน้ำตาลปนดำ อาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามแหล่งที่อยู่อาศัย ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปที่สังเกตได้คือ ขาหน้าและขาหลังมีขนาดยาวปานกลาง ส่วนนิ้วมีแผ่นหนัง ระหว่างนิ้วเกือบสุดปลาย ปลายนิ้วไม่มีแผ่นยึดเกาะ ปลายนิ้วเท้ามีปุ่มเล็กน้อย ไม่มีปุ่มที่กระดูก ฝ่าเท้า ด้านหลังมีแถบสีดำขาดเป็นตอน ๆ ประมาณ 10 แถว ขอบในดวงตาแคบกว่าเปลือก ตาบน บริเวณหัวและลำตัวส่วนหลังมีสีน้ำตาล ขามีลายพาดขวาง มีสีน้ำตาลตลอด ใต้คางมีจุดเด่นสีเทา 

3.กบภูเขา หรือเขียดแลว (Rana bythii Boulenaer)
เป็นกับพื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวที่โตเต็มที่ขนาดประมาณ 3 กิโลกรัม ขึ้นไป ชาวบ้านเรียกกันอีกชี่อหนึ่งว่า กบคลอง ตามแหล่งอาศัย ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป ที่สังเกตได้คือ ปลายนิ้วโป้งนิ้วขาหน้าแยกออกจากกัน ผิวหนังด้านข้างไม่นูนโป่ง ไม่มีถุงลม ไม่มีแผ่นหนังที่นิ้วขาหน้าอันแรก ซึ่งยาวกว่านิ้วอันที่สอง แก้วหูห่างจากตาเป็นระยะทาง มากกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของตา กบเพศผู้จะมีเขี้ยวออกจากขากรรไกรล่างยืนยาว ส่วนเพศเมียจะสั้นกว่า มีตาโต ในบางท้องที่อาจมีเส้นพาดกลางหลัง จากริมฝีปากถึงส่วนก้น บางแหล่งไม่มี ที่ขามีลายพาดสีน้ำตาลเข้มตลอด ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงหรือดำ ใต้คาง ใต้ท้องมีสีขาว-เหลือง ริมฝีปากบนและล่างมีจุดสีดำ พบมากแถบภาคเหนือและภาคใต้ 

4.กบบูลฟรอค (Rana catesbeiana show) 
เป็นกบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เข้าใจว่าใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา โตเต็มที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 กิโลกรัมขึ้นไป ตัวที่โตมีความยาวถึง 8 นิ้ว ลำตัวกว้าง ส่วนหัวสีเขียว ส่วนหลังมีสีน้ำตาลเขียว ส่วนท้องมีสีขาวเหลือง ผิวหนังขรุขระมีปุ่มขนาดเล็กๆ อยู่ที่ส่วนหลัง ไม่มีสันข้างตัวแต่จะมีสันตรงด้านหลังของแก้วหู ที่ขามีจุดสีน้ำตาลประปราย บางท้องที่อาจมีสีคล้ำหรือดำ

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "การเลี้ยงกบ2: ทำไมกบจึงเป็นสัตว์ที่น่าเลี้ยง"

แสดงความคิดเห็น