ผู้ประกันตนมาตรา 40 สำหรับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ


หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับ ผู้ประกันตนมาตรา 40


ที่มา ประกันสังคม มาตรา 40

การขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบโดยผลักดันร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข เพื่อรัฐร่วมจ่ายในมาตรา 40 และแก้ไขพระราชกฤษฎีกา เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ของมาตรา 40 ให้เป็นที่จูงใจ โดยเป็นระบบสมัครใจ

ความหมาย

ผู้ประกันตนมาตรา 40 หมายถึง บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 เรียกว่า ผู้ประกันตนโดยอิสระ
 

คุณสมบัติในการสมัคร

ต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ณ วันสมัครไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ไม่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ) หรือผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 สมัครโดยลงลายมือชื่อในใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และจ่ายเงินสมทบงวดแรกได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศเลือกทางเลือกใน การจ่ายเงินสมทบได้ 2 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่  1 จ่าย 100 บาท/เดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐสนับสนุน 30 บาท)
ทางเลือกที่  2 จ่าย 150 บาท/เดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐสนับสนุน 50 บาท) ความเป็นผู้ประกันตนจะเริ่มตั้งแต่วันที่จ่ายเงินสมทบงวดแรก

หมายเหตุ รัฐสนับสนุนในระยะแรกทั้งนี้ จนกว่าสำนักงานประกันสังคมจะประกาศเป็นอย่างอื่น
 

การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูล

เมื่อเป็นผู้ ประกันตนแล้วหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น เปลี่ยนคำนำหน้านาม ชื่อ - สกุล ที่อยู่ที่ติดต่อขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบ หรือแจ้งความไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อไป (ลาออก) เป็นต้น ให้แจ้งต่อสำนักงานประกันสังคม
กรณีขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบจะทำได้ปีละ 1 ครั้ง ก่อนวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีถัดไป

ประโยชน์ทางภาษี

    -  เงินสมทบในแต่ละปี ใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน

สิทธิประโยชน์พื้นฐาน

 
1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย  เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี เงื่อนไขจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน (การรักษาพยาบาลใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
    
2.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ  รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 - 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานานถึง 15 ปี เงื่อนไข เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไป (ต้องเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการ แพทย์)
    
3.ค่าทำศพ (เสียชีวิต) จะได้รับค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย  เงื่อนไข จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน
 
4.เงินบำเหน็จชราภาพผู้ประกันตนสามารถรับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เงื่อนไข มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
  
ทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณ
เพื่อสิทธิประโยชน์ดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมขอเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณด้วยชุดสิทธิประโยชน์ ดังนี้

ชุดสิทธิประโยชน์ 1 (จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน)


สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย  เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ  เงินค่าทำศพ

เงินสมทบที่จ่าย

ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเดือนละ 100 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 3 บาท *ในระยะแรกรัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนให้ 30 บาท และผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท

ชุดสิทธิประโยชน์ 2 (จ่ายเงินสมทบ 150 บาท/เดือน)


สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย  เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ  เงินค่าทำศพ  เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออมกรณีชราภาพ)

จ่ายเงินสมทบ
ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเดือนละ 150 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 5 บาท *ในระยะแรกรัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนให้ 50 บาท และ ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท


***ทั้งนี้ผู้ประกันตนที่ประสงค์รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน

หมายเหตุ ทั้งนี้ ในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้

วิธีการนำส่งเงินสมทบ


    1.หักผ่านบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และชำระผ่านเคาน์เตอร์
    2.ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถนำส่งเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก
    3.ชำระได้ที่เคาน์เตอร์วิสทุกแห่ง
    4.หักผ่านบัญชี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน โดยผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมเอง ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2554 เป็นต้นไป

หมายเหตุ การชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท ในส่วนการชำระผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะมีค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อครั้ง โดยจะได้รับใบเสร็จรับเงินทันที  แต่ผู้ประกันตนต้องนำใบเสร็จรับเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ออกให้พร้อม สมุดนำส่งเงินสมทบมาตรา 40 ไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ทำการประทับตราในสมุดนำส่งเงินสมทบ  เนื่องจากต้องใช้ประกอบการยื่นเรื่องเมื่อมีการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

เอกสารประกอบการสมัคร

   1.แบบการขึ้นทะเบียนการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 (สปส.1-40)
   2.บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
   
สถานที่ในการขึ้นทะเบียน

    1.สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา
    2.หน่วยบริการเคลื่อนที่
    3.สมัครผ่านตัวแทน (เจ้าหน้าที่ประกันสังคม)
   
หมายเหตุ ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่/จังหวัด/สาขา ได้มีการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจสมัคร มาตรา 40 โดยสามารถกรอกแบบฟอร์มสมัครผ่านเจ้าหน้าที่/ตัวแทน แต่ยังไม่มีการเก็บเงินสมทบ ทั้งนี้ในการเก็บเงินสมทบจะเริ่มเก็บในเดือน พฤษภาคม 2554 หรือสามารถติดต่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา    

ที่มา: http://www.sso.go.th/


หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ผู้ประกันตนมาตรา 40
ขั้นตอนการเบิกสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40
เงื่อนไขการรับประโยชน์ทดแทน ผู้ประกันตนมาตรา 40




Tag: ประกันตนมาตรา 40, ประกันตนสำหรับอาชีพอิสระ มาตรา 40

0 คน ให้ความคิดเห็นเรื่อง "ผู้ประกันตนมาตรา 40 สำหรับ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ"

แสดงความคิดเห็น